วันอังคารที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

PA704 บทวิเคราะห์การเมือง คุณนิธิ เอียวศรีวงศ์



การเมือง : บทวิเคราะห์

'นิธิ' ชี้ สังคมเปลี่ยนระดับ 'สำนึก'  'ยุบสภา-ยุติชุมนุม'ไม่ใช่ทางออกความขัดแย้ง
ขอขอบพระคุณบทความของ : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์     วันที่ 27 มีนาคม 2553 เพื่อใช้เป็นสื่อการเรียนการสอน ขอขอบพระคุณเป็นที่สุดครับ


สัมภาษณ์พิเศษ นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการอิสระ ในรายการ "คม ชัด ลึก "ทาง เนชั่น แชนแนล เกี่ยวกับสถานการณ์การเมือง


นายนิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการอิสระ สัมภาษณ์ในรายการ "คม ชัด ลึก "ทาง เนชั่น แชนแนล เกี่ยวกับสถานการณ์การเมือง โดยมองว่าปรากฏการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยในช่วงสิบ กว่าปีที่ผ่านมา แต่ "ระบบการเมือง" ของไทยปรับไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลง และเชื่อว่าไม่ว่า "ยุบสภา" หรือ "เสื้อแดงยุติชุมนุม" การเรียกร้องต่างๆ ก็ยังมีอยู่ มีรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้
สถานการณ์การเมืองขณะนี้ถือเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ใหม่หรือเปล่า
ผมไม่อยากให้จำกัดเฉพาะ "สถานการณ์" อย่างเดียว ผมคิดว่าประเทศไทยกำลังเปลี่ยนแปลงในระดับที่ลึกมาก ไม่ใช่เพิ่งมาเปลี่ยนแปลงเอาตอนนี้ สัญญาณการเปลี่ยนแปลงปรากฏให้เห็นเมื่อสิบกว่าปีมาแล้ว ตั้งแต่สมัยก่อนหน้าที่คุณทักษิณ (ชินวัตร) จะเป็นนายกฯด้วยซ้ำไป มันมีความเปลี่ยนแปลงให้เห็นมาประมาณสิบกว่าปี
สังเกตจากสถานการณ์อะไร
อย่าดูที่สถานการณ์อย่างเดียว เราดูที่ภูมิหลังเศรษฐกิจการเมืองของไทย จะพบว่าประการแรก ผู้ประกอบการเกษตรเพื่อเลี้ยงตนเอง เหลือจำนวนน้อยลงมากๆ ส่วนใหญ่ผู้ประกอบการเกษตร ทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ของคนไทยเวลานี้เป็นไปในเชิงพาณิชย์ทั้งนั้น มีการเติบโตของเมือง เวลานี้คนไทยกว่า 50% อยู่ในเขตที่เรานิยามว่าเมือง อันที่สาม แม้แต่ในเขตชนบท ที่เป็นชนบทแท้ๆ ก็เปลี่ยนแปลงไปแล้ว คนจำนวนมากสูญเสียที่นาตนเอง ก็มีทางเลือกสองอย่างคือเป็นแรงงานรับจ้างเกษตรกรรม ซึ่งจนมากๆ เลย มีงานให้ทำน้อย ปีละ 140-150 วัน อีกส่วนหนึ่งที่มีทุนอยู่บ้าง คุณก็เปลี่ยนอาชีพมาเป็นขายก๋วยเตี๋ยว ช่างทำผม ในพื้นที่ที่ยังเป็นหมู่บ้านอยู่ ส่วนคนในหมู่บ้านเอง คนก็ออกไปทำงานรับจ้าง เป็นครู มีอาชีพที่หลากหลายมาก ไม่แตกต่างจากเมือง ภาพข้างนอกอาจเป็นหมู่บ้าน แต่เจาะลึกลงไปไม่ใช่ คนเหล่านั้นมีวิถีชีวิตที่แตกต่างจากเมือง สื่อเองก็ขยายไปทั่วทุกหัวระแหงในสังคมไทย ทั้งหมดของการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ทำให้การเมืองคงสภาพเดิมไม่ได้ ฉะนั้น เวลาเราพูดถึงสำนึกทางการเมืองของคนไทยอย่างชนิดที่สังคมไทยไม่เคยเจอมาก่อนที่คนจำนวนมากมายมหาศาลเหล่านี้เกิดมีสำนึกทางการเมืองเข้ามา อยากจะเข้ามามีส่วนร่วม อยากจะเข้ามากำกับดูแล อยากจะเข้ามาดูแลให้นโยบายเป็นประโยชน์แก่ตน ซึ่งก็เป็นของปกติธรรมดาของสังคมมนุษย์ในโลกนี้ เอาเพียงแค่นี้ก่อน มันเกิดขึ้นเมื่อไร ผมคิดว่าเกิดขึ้นก่อนปี 2530 ก่อนหน้าจะมีรัฐธรรมนูญปี 2540 ด้วยซ้ำไป เพราะฉะนั้นเพียงแค่นี้ก็ทำให้เราไม่สามารถพูดถึงระบบการเมืองที่ไม่กระจายอำนาจตัดสินใจลงไปสู่คนส่วนใหญ่ได้ คุณจะชอบมันหรือไม่ชอบมันนั้นไม่เกี่ยว แต่มีเปลี่ยนถึงระดับนี้แล้ว
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้ถือว่าเล็กมาก
ไม่ใช่เล็ก ผมไม่อยากให้คนไทยคิดง่ายๆ ว่าหากมีการยุบสภาแล้วทุกอย่างจะเรียบร้อย หรือ ไม่ยุบสภา แต่สามารถทำให้คนเสื้อแดงกลับไปแล้วทุกอย่างจะเรียบร้อย ไม่ใช่ แต่เป็นปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้นแล้วเกิดขึ้นอีก ไม่จำเป็นในรูปของการประท้วง ไม่ต้องประท้วงก็ได้ อีกนานาชนิด สรุปก็คือ ทุกครั้งที่ระบบเศรษฐกิจสังคมเปลี่ยน คุณต้องปรับระบบการเมือง เพราะการเมืองคือการสะท้อน กฎเกณฑ์ กติกา ระเบียบปฏิบัติ ที่ประสานผลประโยชน์ของคนหลากหลายกลุ่ม พอผลประโยชน์เปลี่ยน ตัวระบบการเมืองก็ต้องเปลี่ยน และประเทศไทยเคยปรับระบบการเมืองมาหลายหนแล้ว หากคุณย้อนไปดูประวัติศาสตร์ รัชกาลที่ 4-5 เคยปรับมาแล้วในช่วงเปิดประเทศ ระบบการเมืองแบบพระเจ้าแผ่นดินทรงอำนาจทางทฤษฎี แต่ไม่ทรงอำนาจในทางปฏิบัติ มันเป็นไปไม่ได้ เพราะมาถึงรัชกาลที่ 5 ก็ทรงเปลี่ยนระบบการเมืองให้พระเจ้าแผ่นดินมีอำนาจทางกฎหมายและทางปฏิบัติจริงๆ ด้วย ถามว่าใช้เวลากี่ปี ตั้งแต่ปี 2398-2436 เป็นเวลา 40 กว่าปี ดังนั้นการปรับเปลี่ยนการเมืองรับการเปลี่ยนแปลงสังคมเศรษฐกิจมันต้องใช้เวลา ฉะนั้นอย่าไปหวังว่าคนเสื้อแดงกลับบ้าน แล้วทุกอย่างจบ หรือรัฐบาลยุบสภาแล้วจบ ไม่จบหรอก นี่เป็นช่วงระยะเวลาระบบการเมืองของไทยปรับตัวมันเอง
การเมืองต้องปรับ
ไม่ใช่การเมืองของนักการเมืองนะ เป็นระบบการเมือง
อาจารย์เห็นการปรับเปลี่ยนไหม
มันช้าไป ปรับเปลี่ยนช้าไป ตัวอย่างง่ายๆ ถามว่าพรรคการเมืองไทยที่มีมาหลายสิบปีมาแล้ว เข้าใจความเปลี่ยนแปลงของสังคมเพื่อปรับตัวเอง พรรคการเมืองไทยไม่ได้ปรับอะไรเลย คุณทักษิณจะดีจะชั่วอะไรก็แล้วแต่ แกเข้าใจการเปลี่ยนแปลงสังคมตรงนี้ แล้วแกก็ทำให้พรรคไทยรักไทย ซึ่งก็ไม่ได้ทำให้ผมน่าศรัทธามากนัก แต่อย่างน้อยรู้เลยว่าพรรคการเมืองต้องมีฐานมวลชนมากกว่าที่เคยมีมา แล้วแกก็ทำ
ทางออกสถานการณ์ตอนนี้คืออะไร
ผมเดาไม่ถูกหรอกครับ ทางออกทางเลือกมีหลายทาง หากมีคนใจร้อนและมีอำนาจอยู่ แล้วเขาคิดว่าวิธีที่ดีที่สุดคือปิดกั้นการพัฒนาประชาธิปไตยโดยวิธีการรุนแรง เช่น ยึดอำนาจเสีย หากมีคนใจร้อนอย่างนั้น โอกาสที่เราจะปะทะกันอย่างนองเลือดก็น่ากลัวมาก ในทางตรงกันข้ามหากเปรียบเทียบในหลายสังคม เช่นอังกฤษก็ได้ ประชาธิปไตยตรงไปตรงมากว่าเราอีก เช่น มันบอกเลยว่าหากคุณไม่เสียภาษีทรัพย์สินคุณไม่มีสิทธิเลือกตั้ง ผู้หญิงก็ไม่เกี่ยว แต่เมื่อกลุ่มชนชั้นนำในอังกฤษมันไม่อยากฆ่ากันเอง ก็คิดว่าวิธีป้องกันต้องขยายสิทธิประชาธิปไตย ก็เลยให้คนอื่นเลือกตั้งบ้าง จะได้เลือกเรา จะได้ชนะคู่แข่ง ประชาธิปไตยก็ขยายขึ้น หรือเรียกว่าประชานิยม ไง ประชาธิปไตยก็ขยายขึ้น ผู้หญิงก็เพิ่งมีสิทธิเลือกตั้งเมื่อศตวรรษที่ 20 นี่เอง แค่ผู้หญิงมีสิทธิเลือกตั้ง มันเปลี่ยนการเมืองอย่างมากนะคุณ ประเด็นที่เกี่ยวกับผู้หญิงเพียงคุณสนใจ คะแนนเสียงก็มาแล้ว หากชนชั้นนำรู้จักแข่งกันเอง ประนีประนอมกันเองโดยวิธีการขยายกติกา โอกาสพัฒนาประชาธิปไตยก็มี อันนี้ไม่ได้เป็นทางเลือกทางเดียว ทางเลือกมันเกิดขึ้นได้แยะมาก มีหลายทาง ผมเดาไม่ถูก ว่าจะเลือกทางไหน
อาจารย์มองเรื่องการจ้างม็อบอย่างไร
คืออย่างนี้ ถ้าคุณจัดการชุมนุมอย่างนี้ไม่มีทุนนั้นเป็นไปไม่ได้หรอก ถามว่าทุนนี้มาจากไหน ผมว่ามาจากหลายส่วนด้วยกัน ผมอยู่เชียงใหม่ ผมได้ยินการโฆษณาเรี่ยไรหลายรูปแบบมากเลย ฉะนั้นมีเงินแน่ๆ มีเงินจากคนที่พร้อมจะจ่ายเป็นก้อนไหม มี ซึ่งบางคนก็ไม่ได้ปิดบัง บางคนก็เป็น ส.ส.ที่สอบตก เป็น ส.ส.ที่จะสมัครครั้งหน้า ผมเดินผ่านที่ชุมนุม เขาจ่ายกันเป็นแสนนะ ผมไม่ออกชื่อว่าเป็นนักการเมืองแถวภาคอีสาน ก็จ่ายเงินเป็นแสน แน่นอน ถามตรงๆ ว่า แล้วคุณทักษิณควักเท่าไร ผมไม่รู้ แต่เผื่อว่าคุณทักษิณจะเป็นผู้นำของกลุ่มคนเหล่านี้ที่จ่ายเป็นแสน แล้วบอกว่าผมไม่ควัก เป็นไปไม่ได้ ต้องควัก แต่ในความหมายจ้างคนมาทั้งหมด เป็นไปไม่ได้ มันมีการเรี่ยไรเงินกว้างขวางมากๆ
การว่าจ้างมาบางส่วน ทำให้ความชอบธรรมน้อยลงไหม
ในทรรศนะผม สังคมเห็นว่ามันลดลง ผมเห็นว่าไม่ คุณต้องเข้าใจนะ อย่ามองเงินเป็นเงื่อนไขหรือแรงจูงใจเพียงอย่างเดียว มนุษย์ทำอะไร นอกจากเงื่อนไขเงินแล้ว ผมคิดว่ามีอื่นๆ ด้วย ไอ้อื่นๆ นี่มันสำคัญมากกว่าเงิน จ้างคุณ 500 คุณไม่เห็นด้วยกับคุณทักษิณเลย เสื้อแดงเลย คุณก็ไม่ออกไปชุมนุม แต่ถ้าสมมติว่าคุณเห็นด้วย คุณก็ไปชุมนุมกับ 500 บาท แต่ถามว่าเพราะว่า 500 บาท โดยคุณไม่เห็นด้วยกับเสื้อแดงเลย ผมว่าไม่จริงหรอก มนุษย์เรามันมีแรงจูงใจในพฤติกรรมของเราสลับซับซ้อนกว่าปัจจัยหนึ่ง คุณอย่านึกว่ามันง่ายนะการชุมนุม ผมก็ไม่เคยเข้าไปร่วมไม่ว่าเสื้อสีอะไรก็แล้วแต่ ผมรู้ว่ามันยากลำบากมาก แล้วคนเราจนขนาดไหน ผมก็ไม่คิดว่าคนไปร่วมชุมนุมเพราะจนอย่างเดียว เราชอบมองอะไรง่ายๆ อย่างนี้ เหมือนคนขายเสียง นั่นเป็นปัจจัยหนึ่งในหลายๆ อัน ไม่ใช่ปัจจัยเดียว
ส่วนใหญ่คนที่มาคือต้องการโอกาสทางการเมือง
โอกาสไม่สำคัญเท่าสำนึก สำนึกว่าเขาถูกเบียดบัง เขาถูกกดขี่ เขาถูกกีดกัน ตอนนี้เขาไม่ยอมอีกแล้ว สำนึกอันนี้มันค่อยๆ เกิดขึ้น เมื่อ 10 ปีมาแล้ว
การโจมตีเรื่องสองมาตรฐานละ
ผมว่าต้องฝ่าสำนวนโวหารการชุมนุมออกไปบ้าง แม้แต่ คุณทักษิณเอง มีความหมายน้อยกว่าคุณทักษิณที่เป็นสัญลักษณ์ แท็กซี่หลายคนที่ผมนั่งคุยด้วย ยกย่องคุณทักษิณ ผมก็บอกว่าคุณทักษิณมีข้อไม่ดีอะไรบ้าง 2,500 ศพที่ตายไปในสงครามยาเสพติด ผมไม่เชื่อเป็นขาใหญ่ ผมว่าเป็นขาเล็ก และในจำนวนไม่รู้เท่าไรใน 2,500 หลักฐานไม่เพียงพอว่าเขาเกี่ยวข้องกับยาเสพติดอย่างไร แท็กซี่ก็ยอมรับ สองมาตรฐานที่สมัยคุณทักษิณก็ใช้ในหลายเรื่อง แท็กซี่ก็ยอมรับ ผมคิดว่าคุณทักษิณคือสัญลักษณ์ ที่เรียกคนได้ดี สัญลักษณ์ของยุคสมัยของอุดมคติ ทั้งๆ ที่เมื่อวิเคราะห์ให้ดีก็ไม่ได้ดีขนาดนั้น แต่สภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน สำหรับเขาจะต่อสู้สภาพที่มันเลวร้ายอย่างไร ก็ต่อสู้ด้วยการใช้สัญลักษณ์คุณทักษิณ ผมไม่ได้คิดว่าคนเหล่านี้คลั่งไคล้คุณทักษิณ เหมือนที่เขาแสดงออก หากคุณฟันฝ่าสิ่งเหล่านี้เข้าไป ผมคิดว่าน่าสนใจ ลึกๆ แล้วในโวหารทั้งในเวทีและนอกเวทีนี่ ว่าเขารู้สึกเจ็บปวดกับความเหลื่อมล้ำ เรียกตัวเองว่าไพร่ คำนี้น่าสนใจมากๆ เลยในภาษาไทย เพราะตอนสมัยผมเด็กๆ คำว่า ไพร่ แปลว่าคนไม่มีมารยาท ไพร่กับผู้ดี แต่ต่อมาความหมายเริ่มเหลื่อมไป เป็นการประชดคนที่มีอภิสิทธิ์ หมายถึงสามัญชนไม่มีอภิสิทธิ์ชน ดังนั้นคำว่าไพร่ หมายถึงฉันรู้สึกไม่พอใจกับสภาพเหลื่อมล้ำที่ฉันเป็นฝ่ายเสียเปรียบตลอดเวลา ผมว่าน่าสนใจ สิ่งนี้ ย้อนไป 30 ปี คนไม่รู้สึกนะ ฉันเป็นไพร่ ผมบอกว่าสำนึกสำคัญ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเปลี่ยนสำนึกคนด้วย ให้เข้าใจความรู้สึกของคนที่ชุมนุมด้วย
คำว่าอำมาตย์
ผมคิดว่าก็เป็นสัญลักษณ์ แม้แต่คนที่ถูกใช้เรียกว่าอำมาตย์ คนคนนั้นก็ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์เหมือนกัน ผมคิดว่าเขาหมายถึงตัวระบบมากกว่า แต่หากพูดแบบนี้ป่านนี้เขากลับบ้านหมดแล้ว คุณต้องพูดเป็นสำนวนที่คนเขาเข้าใจได้ง่าย สร้างศัตรูขึ้นมาเป็นรูปธรรม สร้างมิตรขึ้นมาให้เป็นรูปธรรม
คิดว่าประชาธิปัตย์มีอำมาตย์หนุนหลังไหม
ไม่ใช่ประชาธิปัตย์ รวมพรรคเพื่อไทยด้วย ทุกพรรค มีระบบการบริหารบ้านเมือง มีระบบการแบ่งสรรอำนาจที่ตายตัวอยู่ ผมถามง่ายๆ คุณมีนโยบายอะไรวะ ไม่มี คุณก็ไปเอาแผนสภาพัฒน์มาเขียนใหม่ ทุกพรรคก็ทำเหมือนกัน ถามว่าใครคือผู้บริหารประเทศ คือคนที่มีอำนาจกลุ่มหนึ่งที่มีการจัดสรรและแบ่งปันกันไว้เรียบร้อยแล้ว เมื่อไรที่นายกสมาคมธนาคารไทย ก็ตามส่งเสียงออกมา มันจะมีผลมากต่อการกำหนดนโยบายของรัฐ เพราะพรรคการเมืองไม่มีนโยบายอะไรเลย ใครส่งเสียงดังก็เอาคนนั้นเป็นหลัก ระบบอย่างนี้คือเรียกว่าอำมาตย์ คือไม่ฟังเสียงประชาชน แต่ฟังคนเสียงใหญ่
สองมาตรฐานในความหมายของอาจารย์
หากเราจะสังเกต ในเมืองไทยไม่ว่าจะเป็นระบบกฎหมาย อะไรต่ออะไร มันใช้ไม่เหมือนกันหรอก แท็กซี่กับรถเบนซ์ถูกจับ คุณคิดว่าต่างกันไหม สองมาตรฐานเกิดขึ้นตลอดเวลา
เรื่องคดียึดทรัพย์อาจารย์มองอย่างไร
เรื่องคดีผมไม่เป็นนักกฎหมาย แต่ในท่ามกลางสังคมที่เกิดสำนึกใหม่นี้ ไม่ประหลาดอะไรเลยที่คำพิพากษาจะถูกโจมตี ไม่ว่าจะเป็นการกระทำของรัฐ ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ ก็ถูกโจมตี เป็นของปกติ การพิสูจน์ว่าตัวเองจะปฏิบัติต่อทุกคนให้เสมอภาค ไม่ใช่แค่พูดนะ มันต้องทำ ซึ่งทำยากในสภาพสังคมที่เหลื่อมล้ำสูง หากไม่เกิดสำนึกการเมืองก็ไม่เป็นไร แต่หากมีสำนึกการเมืองเข้ามาแล้วและความเหลื่อมล้ำก็ยังอยู่ ไม่ว่าคุณจะทำอะไรว่าสองมาตรฐาน เป็นการเลือกปฏิบัติ
เหตุการณ์ไม่เปลี่ยน แต่สำนึกคนเปลี่ยน
ใช่ ของคนเปลี่ยน
แล้วจะแก้ยังไง
สำนึกมันสำคัญมากนะคุณ ถ้าสำนึกเปลี่ยน สิ่งที่คุณเคยทำมาเป็นปกติ มันทำไม่ได้อีกต่อไป กรณีเขายายเที่ยงน่าสนใจ คนขนาดคุณสุรยุทธ์ โอเค ไม่ติดคุก อัยการเห็นว่าไม่มีเจตนา แต่หากย้อนกลับไปดีๆ ในสังคมไทย ที่คนระดับนั้นต้องบอกว่าคืนทรัพย์ เป็นกรณีที่ไม่เกิดขึ้นง่ายๆ ในสังคมไทย เราสามารถลูบหน้าปะจมูกได้ในเรื่องเล็กกว่านี้ แต่นี่ ลูบไม่ได้ สังคมไทยที่ไม่ลูบหน้าปะจมูกได้ ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ นะ
แล้วส่งผลอะไร
ทั้งระบบเลย ทำให้เสียงคนจำนวนมาก สามารถทำให้ระบบลูบหน้าปะจมูกทำได้ไม่ดีเหมือนที่เคยเป็นมา ตอนนี้ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร อย่าคิดว่ามันจะเหมือนที่เคยเป็นมา


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น