วันอังคารที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

PA704 : ชุดสิ่งแวดล้อม (ต่อ) ส่วนที่ 6 ชุดที่ 1


ส่วนที่ 6  ชุดที่ 1  ชุดสิ่งแวดล้อม 
ปัญหาสิ่งแวดล้อม ในภาคต่างๆ
 ของ ประเทศไทย
1.  ปัญหาสิ่งแวดล้อม และแนวทางแก้ไขปัญหาใน ภาคเหนือ

           สาเหตุเกิดจากการทำไร่เลื่อนลอยของชาวเขาเผ่าต่างๆ และบุกรุกพื้นที่ป่าสงวน การตัดไม้ทำลายป่าทำให้ดินเกิดการพังทลาย และไม่มีความอุดมสมบูรณ์และทำให้แม่น้ำลำธารตื้นเขิน
           แนวทางแก้ไข
1.      ป้องกัน ควบคุมการตัดไม้ทำลายป่า
2.      ขยายเขตพื้นที่ป่าสงวน ป่าอนุรักษ์และรักษาพันธุ์สัตว์ป่า
3.      ให้การศึกษาแก่ประชาชนในความสำคัญของป่าไม้ตลอดจนวิธีการอนุรักษ์ป่าไม้
4.      ส่งเสริมการปลูกป่าเพื่อทดแทนป่าที่ถูกทำลายไป
5.      เร่งทำแผนอพยพชุมชนและคนออกจากพื้นที่ป่าอนุรักษ์
6.      ปฏิเสธการรับรอง “สิทธิชุมชน” ในการตั้งถิ่นฐานในผืนป่า
ปัญหาการพังทลายของดิน
           สาเหตุเกิดจากการตัดไม้ทำลายป่าของภาคเหนือมีสูงถึง ร้อยละ 60 ของภาค และยังเป็นพื้นที่ราบสูงทำให้ปัญหาการพังทลายของดินมีมาก
           แนวทางแก้ไข
1.      ส่งเสริม และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
2.      แย่งพื้นที่การใช้ดินให้เหมาะสม
3.      มีมาตรการควบคุมการตัดไม้ทำลายป่า
4.      ส่งเสริมการปลูกพืชแบบขั้นบันได การปลูกพืชคลุมดิน การปลูกพืชสลับแถว
ปัญหาการขยายตัวของสังคมเมือง
           สาเหตุเกิดจากการขยายตัวของชุมชนเมืองมากขึ้น ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ ปัญหาขยะมูลฝอย ปัญหาชุมชนแออัด ปัญหายาเสพติด ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ เป็นต้น
          แนวทางแก้ไข
1.      ส่งเสริมและฝึกอาชีพต่างๆ แก่ประชาชน
2.      ให้การศึกษาที่สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น เช่น โครงการพัฒนาชาวไทยภูเขา
3.      ปราบปรามและลงโทษผู้ค้ายาเสพติดอย่างเด็ดขาด
4.      พัฒนาคนให้มีจิตสำนึกในการรักผิดชอบร่วมกัน
ปัญหาการขาดแคลนที่ดินทำกิน
           เนื่องจากภาคเหนือเป็นที่ราบสูงสลับกับภูเขา ทำให้ขาดที่ดินในการประกอบอาชีพเกษตร
           แนวทางแก้ไข
1.      ปรับปรุงคุณภาพของดินให้สามารถใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด
2.      ให้ความรู้ด้านการเกษตรแก่เกษตรกรในการใช้ประโยชน์จากที่ดินของตน


2. ปัญหาสิ่งแวดล้อม และแนวทางแก้ไขใน ภาคกลาง
ปัญหาการใช้ที่ดิน
1.      ใช้ที่ดินไม่เหมาะสมกับสภาพของดิน
2.      มีการเพาะปลูกไม่เหมาะสมกับสภาพของดิน
3.      มีการปลูกพืชที่ทำลายความอุดมสมบูรณ์ของดิน
4.      เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน
           แนวทางแก้ไข
1.      หลีกเลี่ยงการขยายเมืองในพื้นที่ ที่ใช้ในการทำเกษตร
2.      ปลูกพืชให้เหมาะสมกับสภาพดิน
3.      ให้ความรู้แก่เกษตรกรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต
4.      จัดให้มีการปฏิรูปที่ดิน ในการปรับปรุงและสิทธิในการถือครองที่ดิน
ปัญหาเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำ
           ภาคกลางอยู่ในเขตเงาฝน ปริมาณน้ำฝนที่ใช้ในการเกษตรไม่เพียงพอจึงเกิดปัญหา การขาดแคลนน้ำ
           แนวทางแก้ไข
1.      พัฒนาการชลประทานให้กระจายไปทั่วทุกพื้นที่
2.      พัฒนาแหล่งน้ำที่ตื้นเขินให้สามารถเก็บกักน้ำได้
3.      ไม่ทิ้งขยะมูลฝอยลงในแม่น้ำลำคลองที่ก่อให้เกิดปัญหาแหล่งน้ำตื้นเขิน
ปัญหาการหนุนของน้ำทะเล
           เนื่องจากภาคกลางเป็นพื้นที่ราบลุ่ม จึงเกิดปัญหาน้ำทะเลหนุนขึ้น ก่อให้เกิดความเสียหายแก่พืชผล และการเกษตร
           แนวทางแก้ไข
1.      กรมชลประทานได้ช่วยขุดคลองส่งน้ำเลี้ยงต้นไม้ในฤดูแล้ว เพื่อช่วยให้ความเข้มข้นของน้ำทะเลลดลง
2.      สร้างเขื่อนกั้นน้ำทะเลในระยะที่น้ำทะเลหนุน ปัญหาการทำลายป่าห้วยขาแข้ง

3. ปัญหาสิ่งแวดล้อม และแนวทางแก้ไขใน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ปัญหาเกี่ยวกับการพังทลายของดิน
1.      ลักษณะภูมิประเทศเป็นพื้นที่ลาดเอียง ก่อให้เกิดการพังทลายของดินได้ง่าย
2.      ความรุนแรงของลักษณะภูมิอากาศ เช่น แห้งแล้งมาก ร้อนมาก หรือมีน้ำหลากในช่วงเกิดพายุดีเปรสชัน ก่อให้เกิดการพังทลายของดิน
3.      ลักษณะเนื้อดินเป็นหินทราบน้ำซึมผ่านได้ง่าย จึงเกิดการพังทลายได้
4.      ขาดพืชปกคลุมดิน เนื่องจากไม่มีป่าไม้เหลืออยู่
           แนวทางแก้ไข
1.      ควบคุมและป้องกันการตัดไม้ทำลายป่า
2.      ห้ามการเพาะปลูกพืชผิดวิธี
3.      ควรปลูกพืชแบบวิธีขั้นบันไดในบริเวณที่มีพื้นที่ลาดเอียง
4.      ควรปลูกพืชคลุมดินบริเวณที่มีการพังทลายของดิน
5.      ควรสร้างเขื่อนขนาดเล็กเพื่อคั่นร่องน้ำให้เก็บกับน้ำไว้
ปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ว
           ภาคตะวันออกเฉียงเหนือขาดแคลนน้ำมากในช่วงฤดูแล้ง เนื่องจากพื้นดินเป็นดินปนทราย และมีพื้นที่ลาดเอียงทำให้น้ำซึมอย่างรวดเร็ว และไหลลงสู่แม่น้ำลำธารอย่างรวดเร็ว รวมทั้งการพังทลายของดินทำให้แหล่งน้ำตื้นเขิน
           แนวทางแก้ไข
1.      ควบคุมและป้องกันการทำลายแหล่งน้ำธรรมชาติ
2.      สร้างเขื่อนเก็บกักน้ำ หรือฝาย
3.      ปรับปรุงแหล่งน้ำธรรมชาติให้สามารถรองรับปริมาณน้ำได้มากที่สุด
4.      ขุดเจาะบ่อบาดาลเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำให้เพียงพอกับความต้องการของประชาชน
5.      ควบคุมและป้องกันการตัดไม้ทำลายป่าในต้นน้ำลำธาร
6.      สร้างถังน้ำคอนกรีตสำหรับหมู่บ้านเพื่อเก็บน้ำฝนไว้ใช้
7.      ให้ความรู้แก่ประชาชนในการอนุรักษ์แหล่งน้ำ
ปัญหาการบุกรุกทำลายป่า
           ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีพื้นที่ป่าไม้น้อยมาก เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของประชากร การกระจายตัวของประชากร และการเพราะปลูกที่ผิดหลัก จนเป็นเหตุให้เกิดการอพยพย้ายถิ่นเพื่อแสวงหาถิ่นทำกิน
           แนวทางแก้ไข
1.      ให้ความรู้เกี่ยวกับความสำคัญของป่าไม้
2.      ส่งเสริมการปลูกป่าทดแทนและปรับปรุงต้นน้ำลำธาร
3.      ร่วมมือกับกรมป่าไม้ในการอนุรักษ์และรักษาป่าไม้
4.      ช่วยกันรักษาป่าธรรมชาติบริเวณต้นน้ำลำธาร
ปัญหาการเติบโตของชุมชนเมือง
           ชุมชนเมืองใหญ่ๆ เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น อุดรธานี นครราชสีมา เป็นต้น ก่อให้เกิดปัญหาชุมชนแออัด ปัญหาขยะมูลฝอยตามมามากขึ้น
           แนวทางแก้ไข
           ควรวางแผนและมีมาตรการในการจัดระเบียบการวางผังเมือง และเขตอุตสาหกรรมให้ถูกต้องและสามารถควบคุมได้


4. ปัญหาสิ่งแวดล้อม และแนวทางแก้ไขใน ภาคตะวันออก
ปัญหาการพังทลายของดิน
           สาเหตุเกิดจากการตัดไม้ทำลายป่า และการปลูกพืชที่ก่อให้เกิดดินเสื่อมคุณภาพขาดความอุดมสมบูรณ์ เช่น มันสำปะหลัง อ้อย เป็นต้น
           แนวทางแก้ไข
1.      ให้ความรู้ในการรักษาป่า และการสงวนป่าที่เป็นต้นน้ำ
2.      ปลูกป่าทดแทนในบริเวณที่เคยเป็นป่าไม้
3.      เลิกการเพาะปลูกแบบทำไร่เลื่อนลอย
4.      ส่งเสริมการปลูกพืชที่ช่วยให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์
5.      ควรป้องกันและรักษาป่าธรรมชาติ
ปัญหาการบุกรุกทำลายป่าไม้ และป่าชายเลน
           จังหวัดที่มีพื้นที่ติดต่อกับชายฝั่งทะเล 5 จังหวัด เพื่อใช้ปลูกพืชไร่
           แนวทางแก้ไข
           ควรกำหนดพื้นที่ในการเพราะปลูกให้แน่นอน และกำหนดพื้นที่เพื่อการอนุรักษ์ และป้องกันการบุกรุกทำลายป่า
ปัญหามลพิษบริเวณชายฝั่งทะเล
           ภาคตะวันออกเป็นเขตพื้นที่อุตสาหกรรมอิสเทิร์นซีบอร์ด  ทำให้มีการปล่อยน้ำเสีย และกากสารพิษลงสู่ทะเล
           แนวทางแก้ไข
           ควรควบคุมโรงงานอุตสาหกรรมให้มีการจัดระบบการบำบัดน้ำเสีย และกากสารพิษให้เคร่งครัด
ปัญหาการขาดแคลนน้ำจืด
           สำหรับอุปโภคบริโภค และการเกษตร ในบริเวณที่ราบชายฝั่งทะเลในช่วงฤดูแล้ง
           แนวทางแก้ไข
           ควรมีการสร้างเขื่อน หรืออ่างเก็บน้ำ และพัฒนาแหล่งน้ำให้สามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้ได้ตลอดฤดู และไม่ควรตัดไม้ลำลายป่า
ปัญหาการรับเอาวัฒนธรรมกระแสใหม่
           ภาคตะวันออก กำลังพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจด้วนอุตสาหกรรมด้านต่างๆ ก่อให้การดำเนินชีวิตของประชาชนเปลี่ยนแปลงไป เช่น การแต่งกาย การใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือย
           แนวทางการแก้ไข
           ให้ความรู้และปลูกฝังค่านิยมที่ถูกต้อง ตลอดจนการอนุรักษ์วัฒนธรรมต่างๆ ของไทยให้เป็นเอกลักษณ์ของชาติต่อไป
ปัญหาชายแดนและความมั่นคงของชาติ
           ภาคตะวันออกมีพื้นที่ติดต่อกับชายแดนของประเทศกัมพูชา จึงเกิดปัญหาเกี่ยวกับการอพยพของผู้ลี้ภัย ปัญหาการล่วงล้ำอธิปไตย ปัญหาการลักลอบขนสินค้าและอาวุธ ซึ่งเป็นปัญหาที่มีผลต่อความมั่นคงของชาติเป็นอย่างยิ่ง
           แนวทางแก้ไข
1.      หามาตรการในการป้องกันชายแดนให้เข้มงวดขึ้น
2.      ผลักดันให้มีผู้ลี้ภัยออกจากประเทศ โดยร่วมมือกับองค์การสหประชาชาติ

5. ปัญหาสิ่งแวดล้อม และแนวทางแก้ไขใน ภาคตะวันตก
ปัญหาการพังทลายของดิน
           ภาคตะวันตกเป็นเขตภูเขา มักจะมีปัญหาการพังทลายของดินอย่างรุนแรง เนื่องจากการถางป่า เพื่อเพาะปลูกแบบไร่เลื่อนลอย ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ ก่อให้เกิดความแห้งแล้งหรือน้ำท่วมในฤดูน้ำหลากได้ง่าย
           แนวทางแก้ไข
1.      ส่งเสริมการปลูกป่าเพื่อรักษาต้นน้ำลำธาร
2.      ควรมีการพัฒนาแหล่งน้ำโดยการชลประทาน
ปัญหาการขาดแคลนน้ำ
           ภาคตะวันตกอยู่ในพื้นที่เขตเงาฝน หรือ อับฝน จึงก่อให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำ ทั้งในด้านอุปโภคและบริโภค และการเกษตรของประชากรในภาคนี้
           แนวทางแก้ไข
1.      ส่งเสริมการปลูกป่า และอนุรักษ์ป่าไม้ ตลอดจนมีการลงโทษผู้กระทำผิดในการบุกรุกตัดไม้ทำลายป่า
2.      ควรพัฒนาแหล่งน้ำโดยการสร้างเขื่อน ฝายและอ่างเก็บน้ำเพื่อเก็บกักน้ำ
ปัญหาการบุกรุกทำลายป่าไม้
           พื้นที่ ที่เกิดปัญหามากที่สุดคือ บริเวณทุ่งใหญ่นเรศวร และเขื่อนน้ำโจม ที่มักจะพบปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า มากที่สุด
           แนวทางแก้ไข
           ให้ความรู้ และความเข้าใจแก่ประชาชนในท้องถิ่น ในการมีส่วนร่วมอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้
ปัญหาน้ำทะเล ทะลักเข้าพื้นที่
           แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำเพชรบุรี ในช่วงฤดูฝนจะมีปัญหาน้ำทะเลหนุนเข้าพื้นที่การเพาะปลูกการเกษตร พืช สวนมาก ทำให้เกิดความเสียหายเป็นจำนวนมาก
           แนวทางแก้ไข
           สร้างทำนบกั้นไม่ให้น้ำเค็มไหลเข้าพื้นที่
ปัญหาน้ำเน่าเสีย ของแม่น้ำแม่กลอง
           แนวทางแก้ไข
           ควรควบคุม และป้องกันไม่ให้โรงงานอุตสาหกรรมปล่อยน้ำเสียลงสู่แม่น้ำและช่วยกันฟื้นฟูลำน้ำระหว่างชุมชน กับวัด
ปัญหาสารพิษตกค้าง จังหวัด กาญจนบุรี
           แนวทางแก้ไข
           ควรจัดให้มีมาตรการควบคุมการกำจัดสารพิษอย่างถูกต้อง และ เคร่งครัดในจังหวัดกาญจนบุรี

6. ปัญหาสิ่งแวดล้อม และแนวทางแก้ไขใน ภาคใต้
ปัญหาการสูญเสียป่าชายเลน
           เป็นปัญหาที่เกิดจากการขยายตัวของเกษตรกร นากุ้ง และการประมงชายฝั่ง
           แนวทางแก้ไข
           ควรร่วมมือกันฟื้นฟูสภาพชายฝั่งทะเล
ปัญหาความขัดแย้งของเกษตรกร นากุ้ง และ นาข้าว
           แนวทางแก้ไข
           ควรแบ่งพื้นที่ทำการ และ สร้างระบบกั้นน้ำเค็มระหว่างเกษตรกรนากุ้ง และนาข้าวให้แยกจากกัน
ปัญหาดินเค็ม
           ภาคใต้มีพื้นที่ติดชายฝั่งทะเลทั้ง 2 ด้าน จึงเกิดปัญหาน้ำทะเลท่วมขังเป็นจำนวนมาก
           แนวทางแก้ไข
           ควรมีระบบการระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขังและควรสร้างประตูบังคับน้ำปิดกั้นไม่ให้น้ำทะเลไหลเข้า
ปัญหาอันตรายจากพายุ
           เนื่องจากภาคใต้ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมทะเลจีนใต้และลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ทำให้เกิดพายุและดีเปรสชัน ลักษณะภูมิประเทศเป็นคาบสมุทรแคบๆ ยื่นไปในทะเลจึงทำให้เกิดอันตรายจากพายุได้ง่าย
           แนวทางแก้ไข
           ควรให้ความรู้และความเข้าใจในการอนุรักษ์พื้นที่ป่าไม้ และไม่ควรตัดไม้ทำลายป่า
ปัญหาการอพยพเข้ามาของแรงงานชาวพม่า
           เนื่องจากภาคใต้มีพื้นที่ชายแดนติดกับประเทศพม่า และมีแผนการพัฒนาเมืองตามโครงการสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ ทำให้ต้องใช้แรงงานในการก่อสร้างเพิ่มจำนวนมากขึ้น
           แนวทางแก้ไข
           ทุกองค์กร ควรร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหา และส่งเสริมให้คนในสังคมร่วมมือกัน
ปัญหาการทำเหมืองแร่
           ภาคใต้ จะมีการประกอบอาชีพการทำเหมืองแร่มากที่สุด และเป็นทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป ไม่สามารถหามาทดแทนได้ จึงเกิดปัญหาการแย่งชิงครอบครองแหล่งแร่ การซื้อขาย และขาดการอนุรักษ์ทรัพยากรแร่ เนื่องจากมีกฎหมายที่ไม่รัดกุม
           แนวทางแก้ไข
1.      ควรมีมาตรการ และการลงโทษอย่างเคร่งครัดหากไม่
2.      ปฏิบัติตามกฎหมาย และพระราชบัญญัติแร่
3.      ส่งเสริมให้มีการใช้แร่ที่ปริมาณมากแทนแร่ที่มีปริมาณน้อยแทน
ปัญหาชายแดน
           พื้นที่ของภาคใต้ มีชายแดนติดกับประเทศมาเลเซีย ปัญหาส่วนใหญ่เป็นปัญหาขบวนการโจรก่อการร้าย ปัญหาการลุกล้ำแนวเขตแดนของไทย ปัญหาการลักลอบขนสินค้าหนีภาษีและอาวุธ ปัญหาผู้ลี้ภัย ส่วนปัญหาการล่วงเกินน่านน้ำของชาวประมงภาคใต้เป็นกรณีพิพาท ที่สามารถเจรจาตกลงกันได้

           แนวทางแก้ไข
1.      สร้างเสริมความสัมพันธ์และความเข้าใจระหว่างสองประเทศ
2.      ควบคุมและป้องกันการลักลอบขนสินค้าและอาวุธอย่างเคร่งครัด
3.      ให้ความรู้ และเข้าใจแก่ชาวประมงเกี่ยวกับเขตแดนน่านน้ำของไทยให้ถูกต้อง

7. ปัญหาสิ่งแวดล้อม ใน เขตกรุงเทพฯ และ ปริมณฑล
ปัญหาความหนาแน่นของประชากร
           เนื่องจากกรุงเทพฯ และ ปริมณฑล เป็นศูนย์กลางของประเทศ และมีความสำคัญในด้านต่างๆ ประชากรจึงอพยพเข้ามาอยู่เพื่อประกอบอาชีพมากขึ้น จึงก่อให้เกิดปัญหาความหนาแน่นของประชากร
           แนวทางแก้ไข
1.      กระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคต่างๆ ให้ประชากรไม่ต้องอพยพเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ และเขตปริมณฑล
2.      หามาตรการจัดวางผังเมือง และจัดระเบียบให้เหมาะสมกับจำนวนประชากร
3.      ให้ความรู้เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมที่ดี เพื่อให้เกิดความเข้าใจและร่วมมือกันปฏิบัติ
ปัญหาการจราจรแออัด
           แนวทางแก้ไข
1.      ปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด และลงโทษผู้ฝ่าฝืน
2.      ปรับปรุงระบบขนส่งมวลชนให้มีประสิทธิภาพ
3.      ขยายและเชื่อมโยงถนนต่างๆ เข้าด้วยกัน
4.      รณรงค์ให้ผู้ใช้รถยนต์สวนตัวมาใช้บริการขนส่งมวลชน
ปัญหาน้ำท่วม และน้ำทะเลหนุน
           กรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นที่ลุ่มต่ำกว่าระดับน้ำทะเล จึงก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วมอยู่เสมอ และปัญหาน้ำทะเลทะลักเข้าพื้นที่ทำเกษตร ซึ่งได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก
           แนวทางแก้ไข
1.      สร้างเขื่อนกั้นคลองที่ต่อเนื่องกับทะเล เพื่อกั้นไม่ให้น้ำทะเลทะลักเข้า
2.      สร้างประตูระบายน้ำ และชุดลอกคลองน้ำที่ตื้นเขิน
3.      ปฏิบัติตามโครงการพระราชดำริ โครงการแก้มลิง เพื่อป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ
4.      ปัญหาการขยายตัวของเมืองและเขตอุตสาหกรรม
ปัญหาการขยายตัวของเมืองและเขตอุตสาหกรรม
           การขยายตัวของเมืองก่อให้เกิดปัญหามลพิษต่างๆ ทางสิ่งแวดล้อม ดังนี้
มลพิษทางอากาศ สาเหตุเนื่องจากมีรถยนต์และโรงงานอุตสาหกรรมมากขึ้น
มลพิษทางน้ำ     สาเหตุเนื่องจากการระบายของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมและแหล่งชุมชน
มลพิษทางเสียง   สาเหตุเนื่องจากมียานพาหนะทางบก และทางน้ำมีจำนวนมากขึ้น
การทิ้งขยะมูลฝอยลงในแม่น้ำลำคลอง ก่อให้เกิดน้ำเน่าเสีย และมีสารพิษเจือปน
           แนวทางแก้ไข
1.      วางแผนควบคุมการขยายตัวของเมือง และเขตอุตสาหกรรมให้เคร่งครัด และปฏิบัติตามแผนที่วางไว้
2.  เผยแพร่ความรู้และให้ความร่วมมือกันระหว่างประชาชน ภาคเอกชนและหน่วยงานต่างๆ ในการสร้างสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้น เช่น โครงการตาวิเศษ เป็นต้น



สิ่งแวดล้อมในสหัสวรรษหน้า :
 กระแสไทย กระแสโลก

           ในการวิเคราะห์แนวโน้มของโลกในศตวรรษที่ 20 ที่กำลังจะสิ้นสุดลง นิตยสาร The Economist ชื่อดังของอังกฤษ ได้ข้อสรุปว่า สิ่งแวดล้อมโลกที่ผ่านมา 100 ปี ไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิดกันเลย ตรงกันข้ามภาวะแวดล้อมของโลกอยู่ในสภาพที่ดีมาตลอดจนถึงปัจจุบัน และก็คงดำรงอยู่เช่นนี้ต่อไปในศตวรรษหน้า แม้ว่าประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา แต่ก็ไม่ได้สร้างปัญหามากมายนัก เพราะการผลิตทางเศรษฐกิจของโลกก็ขยายตัวมากเช่นเดียวกัน การที่สิ่งแวดล้อมโลกไม่พบกับความหายนะ (ตามที่หลายฝ่ายพยากรณ์ไว้เป็นเพราะว่าหลายสิ่งหลายอย่างได้เปลี่ยนไป : มีการเปลี่ยนแปลงด้านราคาของทรัพยากร มีการเปลี่ยนแปลงทางสังคม มีการพัฒนาประชาธิปไตย มีการวางนโยบายสิ่งแวดล้อมเพื่อตอบสนองแรงกดดันจากประชาชน)
         จะเห็นได้ว่าเมื่อมีผู้คนมากขึ้น บริโภคมากขึ้น ผลิตมากขึ้น ก็มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้น แต่เมื่อเกิดภาวะขาดแคลนราคาก็จะเริ่มสูงขึ้น ผลักดันให้มีการประหยัดในการใช้ กระตุ้นให้มีการแสวงหาทรัพยากรแหล่งใหม่ๆ ประเภทใหม่ๆ เทคโนโลยีใหม่ๆ เปิดหนทางใหม่ๆ ให้มนุษยชาติเสมอ กลไกราคามีประสิทธิภาพพอสมควรในการแก้ไขปัญหาทรัพยากรธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม เราต้องยอมรับว่า บางครั้งบางกรณี กลไกตลาดไม่อาจแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อย่างน่าพอใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีบางสิ่งบางอย่างในธรรมชาติที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ในกรณีนี้ก็มีแนวโน้มว่าจะมีการใช้ทรัพยากรอย่างล้างผลาญ ไม่มีใครสนใจที่จะอนุรักษ์ ตัวอย่างเช่น ทรัพยากรในทะเลและมหาสมุทร ซึ่งจะถูกคุมคามต่อไปในศตวรรษหน้า
           นอกจากนั้นในบางเรื่อง ความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมไม่ได้ปรากฏออกมาให้เราเห็นใน "ราคา" เช่น มีการปล่อยมลพิษออกมาสู่อากาศและน้ำ สร้างความเสียหายให้แก่ระบบนิเวศและชุมชนอย่างใหญ่หลวง แต่ราคาสินค้าไม่ได้สะท้อนให้เห็นความเสียหายเหล่านี้เลย ทั้งนี้เป็นเพราะภาคธุรกิจเอกชนต้องการลดต้นทุนให้ต่ำและต้องการแสวงหากำไรสูงสุดต่อไป โดยปล่อยให้ชุมชน สังคม และธรรมชาติต้องพบกับความหายนะจากมลพิษ ดังที่เรากำลังพบเห็นในประเทศที่กำลังพัฒนาทั่วโลก
          The Economist ชี้ว่า ในประเทศอุตสาหกรรมที่ก้าวหน้า มลพิษไม่ค่อยจะเป็นปัญหาใหญ่มากนัก เพราะที่นั่นมีระบอบประชาธิปไตยที่พัฒนาแล้ว มีการตรวจสอบ มีการกดดันจากประชาชนตลอดเวลา และรัฐบาลประชาธิปไตยก็ต้องตอบสนองความต้องการของประชาชน โดยมีความสำนึกว่าต้องทำบางสิ่งบางอย่าง และก็มีการทำสิ่งเหล่านั้นไปแล้ว
          ดังจะเห็นได้ว่ามลพิษทางอากาศในสังคมอุตสาหกรรมที่มีความรุนแรงมานานถึง 300 ปี ได้รับการแก้ไขอย่างน่าพอใจมีสิ่งเดียวที่ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ คือ รัฐบาลไม่สามารถควบคุมมลพิษจากรถยนต์ได้ และก็คงเป็นเช่นนี้ต่อไปอีกนาน ในประเทศที่กำลังพัฒนา ปัญหานี้ก็คงจะยืดเยื้อต่อไปอีกนานในศตวรรษหน้านี้
นิเวศวิกฤตในโลกที่กำลังพัฒนา
           ในการวิเคราะห์ของ The Economist อาจมีการมองปัญหาสิ่งแวดล้อมในแง่ดีเกินไป และมองเพียงด้านเดียว อย่างเช่น เรื่องมลพิษทางอุตสาหกรรม มีการสรุปว่าแต่ละปีการปล่อยมลพิษออกสู่อากาศ ประเภทต่างๆ มีปริมาณลดน้อยลงเป็นลำดับ แต่ไม่มีการมองว่า สารพิษหรือมลพิษที่ตกค้างและสะสมในสิ่งแวดล้อมเป็นระยะยาวในโลกอุตสาหกรรมได้เพิ่มขึ้นตลอดเวลา ซึ่งแนวโน้มนี้จะยังคงมีอยู่ต่อไป ในศตวรรษหน้า เพราะจนถึงบัดนี้ รัฐบาลในประเทศอุตสาหกรรม อย่างเช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเยอรมนียังไม่ประสบผลสำเร็จ ในการแก้ไขปัญหามลพิษที่สะสมในระยะยาวแต่อย่างใดเลย (จากข้อสรุปของนักนิเวศวิทยาการเมืองในเยอรมนี) 
           ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าแนวนโยบายสิ่งแวดล้อมกระแสหลักเน้นแต่การแก้ไขปัญหาที่มองเห็นได้รู้สึกได้ และมุ่งจุดหนักไปทางด้านมลพิษระยะสั้นที่มีผลอย่างฉับพลันต่อสุขภาพของประชาชน มลพิษที่ตกค้างสะสมระยะยาวเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยจะมองเห็นได้ง่าย จึงถูกละเลยไป นอกจากนั้นในการวิเคราะห์ปัญหาประชากรของโลก บางทีมีการมองข้ามข้อเท็จจริงที่สำคัญข้อหนึ่งไป นั่นคือ  แม้ว่าอัตราการขยายตัวจะมีไม่มากเหมือนแต่ก่อน แต่ในช่วงเปลี่ยนศตวรรษนี้ประชากรโลกจะเพิ่มปีละประมาณ 80 ล้านคน  (เท่ากับประชากรของเยอรมนีทั้งประเทศ) นั่นหมายความว่า ท่ามกลางความยากจนและความเสื่อมโทรมทางสิ่งแวดล้อม ในชนบท ปริมาณประชากรขนาดนี้จะยิ่งทำให้ภาวะวิกฤตทางสิ่งแวดล้อมมีความรุนแรงขึ้น ซึ่งจะกระเทือนไปถึงระบบการผลิตอาหาร และ วิถีการดำรงชีวิตของผู้คนในประเทศที่กำลังพัฒนา
           การเพิ่มประชากรอย่างมากๆ เช่นนี้ จะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเมืองและการครองชีพในเขตเมืองด้วย ในขณะนี้ทั่วโลกมีประชากร 2.6 พันล้านคนอาศัยอยู่ในเมืองต่างๆ ในจำนวนนี้ 1.7 พันล้านคน อยู่ในเมืองของประเทศที่กำลังพัฒนา จนถึงปี ค.ศ.2015 คาดว่าสัดส่วน จะเพิ่มอย่างรวดเร็วขึ้น 3 ใน 4 ของประชากรเมืองของโลกจะอยู่ในประเทศที่กำลังพัฒนาที่มีความแออัดสูง และมีปัญหารุนแรงทางด้านสุขอนามัย เมื่อเรานำ "สูตรสิ่งแวดล้อม" ที่ลือชื่อของนักนิเวศวิทยา Anne และ Paul Ehrlich มาเป็นพื้นฐานในการมองปัญหา เราจะได้ข้อสรุปว่า ในอนาคตวิกฤตการณ์ทางสิ่งแวดล้อมของโลกมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นอย่างแน่นอน สูตรนี้บ่งว่า
           วิกฤตสิ่งแวดล้อม (I) ถูกกำหนดโดยจำนวนประชากร (P), ความเจริญทางเศรษฐกิจ (A) และเทคโนโลยีการผลิต (T) คือ I = P x A x T 
           นอกจากจำนวนประชากรแล้ว ความเจริญทางเศรษฐกิจยังเป็นตัวแปรสำคัญ ยิ่งพัฒนามากก็ยิ่งผลิตมาก บริโภคมากและใช้ทรัพยากรธรรมชาติมาก สร้างความตึงเครียดให้แก่ระบบนิเวศ นอกจากนี้แล้วการผลิต 1 หน่วยอาจสร้างมลพิษในปริมาณที่มาก เพราะมีการใช้เทคโนโลยีที่ไม่ค่อยสะอาด เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ในยุคโลกาภิวัตน์ที่มีการใช้ปรัชญาตลาดเสรีอย่างแพร่หลายทั่วโลกในช่วงเปลี่ยนศตวรรษนี้ เป็นที่วิตกว่า การค้าการผลิตและการบริโภคจะเร่งให้มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างเผาผลาญ และมีการทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างหนักหน่วงมากขึ้น

ประชาธิปไตยและสิ่งแวดล้อม
  •  สำหรับอนาคตของโลกที่กำลังพัฒนา เราพอจะสรุปบทเรียนที่สำคัญๆ ได้ว่ามลพิษที่ร้างแรงที่สุดมักจะเกิดขึ้นในกลุ่มประเทศที่ยากจน ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาพื้นฐานบางอย่าง นั่นคือ ในประเทศเหล่านั้นไม่ค่อยจะมีการพัฒนาประชาธิปไตย ดังนั้นประชาชนจึงไม่มีสิทธิมีเสียง ไม่อาจเข้าถึงข้อมูล ข่าวสารเกี่ยวกับ สิ่งแวดล้อม ไม่อาจเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาล ไม่อาจคัดค้านต่อธุรกิจที่ก่อมลพิษ ความขาดแคลนประชาธิปไตย จึงเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ทางสิ่งแวดล้อม
  •  การมีมลพิษที่รุนแรงขึ้น ไม่ได้เกิดจากเพราะว่ามีการพัฒนาเศรษฐกิจมากเกินไป แต่เป็นเพราะว่าในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนา รัฐบาลและภาคธุรกิจเอกชนเน้นแต่เรื่องการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (เพื่อเพิ่มรายได้ประชาชาติและการส่งออก) แต่เมื่อการพัฒนา ดำเนินมาระยะหนึ่ง ผู้คนหลายวงการเริ่มมีการพัฒนาจิตสำนึก "สีเขียว" และมีการเรียกร้องให้คำนึงถึงหลักการ "การพัฒนาแบบยั่งยืน" มากขึ้น ในระยะนี้รัฐบาลจึงต้องตอบสนองในการริเริ่มวางนโยบายสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายว่าการพัฒนาเศรษฐกิจต้องเกิดขึ้น พร้อมกับการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม แต่ทั้งนี้ต้องมี "ประชาธิปไตยทางสิ่งแวดล้อม" เป็นพื้นฐานรองรับที่สำคัญ
  • เมื่อมองจากประสบการณ์ 100 ปี ของโลกตะวันตก เราอาจมองไปข้างหน้าได้ว่า ในศตวรรษที่ 21 ประเทศที่กำลังพัฒนา ก็คงจะแสวงหาหนทางแก้ไขวิกฤตการณ์ทางสิ่งแวดล้อมของตนเองได้ แต่ประเทศเหล่านั้นจะประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ อย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง :
    •  จะต้องมีข้อมูลข่าวสารที่ค่อนข้างสมบูรณ์เพื่อเปรียบเทียบต้นทุนของการควบคุมทางสิ่งแวดล้อมกับประโยชน์ที่สังคม  ได้จากการควบคุมนี้
    •  มีมาตรการที่มีประสิทธิภาพซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างมาตรการทางตลาดและราคากับมาตรการทางด้านการวาง มาตรฐานสิ่งแวดล้อม

           ในที่สุดแล้ว การแก้ไขวิกฤตการณ์ทางสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เป็นปัญหาเศรษฐกิจอย่างเดียว (เช่น การประกาศใช้ภาษีสิ่งแวดล้อม Green Tax) แต่ก็เป็นปัญหาทางการเมืองด้วย ถ้ามีการใช้มาตรการเข้มงวดเกินไป ก็อาจไม่เป็นที่ยอมรับทางด้านการเมือง ประชาชนอาจวิพากษ์วิจารณ์ วงการธุรกิจอาจต่อต้านและตอบโต้ (ด้วยการลดต้นทุนทางด้านการจ้างงาน หรือเพิ่มราคาสินค้าให้ประชาชนเดือดร้อน) ในระบบประชาธิปไตย นักการเมืองผู้วางนโยบายสิ่งแวดล้อมมักไม่ค่อยนิยมมาตรการที่เข้มงวด เพราะพวกเขาจะถูกโจมตีอย่างหนัก
           โดยที่ยังไม่มีใครมองเห็นว่ามาตรการและแนวนโยบายสิ่งแวดล้อมจะก่อให้เกิดผลมากน้อยแค่ไหน เป็นที่คาดกันว่าในศตวรรษที่ 21 กลุ่มพลังสีเขียวในประเทศที่กำลังพัฒนาจะมีจำนวนมากขึ้น และมีการเคลื่อนไหวในขอบเขตที่กว้างขวางขึ้น และเรียกร้องให้แก้ปัญหาแบบถอนรากถอนโคน ทั้งนี้เป็นเพราะว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมจะรุนแรงขึ้นโดยที่รัฐบาลค่อนข้างจะตอบสนองล่าช้า ทั้งนี้เป็นเพราะว่ารัฐบาล อาจจะมีแนวโน้มที่จะไม่ใช้มาตรการเข้มงวดมากนัก เพราะเป็นห่วงธุรกิจเอกชนและกลัวว่าเศรษฐกิจของชาติจะถูกกระทบกระเทือนเกินไป
นวัตกรรมทางสิ่งแวดล้อม
           ในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมที่ร่ำรวยคาดกันว่าไม่เป็นการยากนักที่จะแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในศตวรรษที่ 21 เพราะประเทศเหล่านี้ จะแข่งขันกันมากขึ้นทางด้านการปรับปรุงคุณภาพของสินค้า ซึ่งจะต้องมีการแสวงหานวัตกรรม (Innovation) กันอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "นวัตกรรมทางด้านสิ่งแวดล้อม" (Environmental Innovation) จะเป็นเครื่องมือ ที่สำคัญมากในการกระตุ้น ให้การพัฒนาเศรษฐกิจของโลกอุตสาหกรรมก้าวหน้าไป ในขณะนี้ประเทศร่ำรวยก็มีศักยภาพค่อนข้างสูงอยู่แล้วทางด้านการพัฒนาเทคนิคใหม่ๆ ในกระบวนการผลิตที่คำนึงถึงคุณภาพของสิ่งแวดล้อม
           นักวิเคราะห์ทางด้านนวัตกรรมมองว่าความสามารถของอุตสาหกรรมในการตอบสนองต่อการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเครื่องชี้ที่สำคัญว่าอุตสาหกรรมนั้นๆ จะมีความสามารถในการแข่งขันระดับโลกได้หรือไม่ ถ้าใครต้องการประสบความสำเร็จ เขาจะต้องนำเอาแนวคิดหลักที่สำคัญ มาผสมผสานกันในระบบการผลิต นั่นคือต้องมีการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม แก้ไขปัญหามลพิษ เพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและพลังงาน โดยเอาหลักการ "นวัตกรรม" มาเชื่อมโยงกับ "การแข่งขัน" การวางมาตรฐานเข้มงวดทางสิ่งแวดล้อม ยิ่งจะช่วยให้มีการค้นคิดวิธีการผลิตที่เป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ในปัจจุบันทางฝ่ายรัฐบาลของโลกอุตสาหกรรม อย่างเช่น สวีเดน ก็เห็นด้วยกับ "แนวทางนวัตกรรมทางสิ่งแวดล้อม" ในรายงานภาวะสิ่งแวดล้อมของประเทศฉบับล่าสุด มีการสรุปว่า"นโยบายสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลสวีเดน มีความสำคัญมากในการเสริมสร้างให้เกิดความทันสมัยขึ้นแก่ภาคธุรกิจอุตสาหกรรม
             การปรับปรุงสิ่งแวดล้อมได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นให้มีการแข่งขันกันใน ภาค อุตสาหกรรมนี้" ทั้งหมดนี้เป็นแนวคิดใหม่ของโลกตะวันตกที่เน้นเรื่อง "การทำให้เกิดความทันสมัยทางด้านนิเวศ" (Ecological Modernization) ซึ่งเน้นการค้นคิดเทคโนโลยีทางสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ และนำมาใช้ในทุกขั้นตอนของกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรม แต่การจะทำเช่นนี้ได้จะต้องมีการปรับโครงสร้างการผลิตใหม่หมด ซึ่งจะต้องมี "การวางแผนทางสิ่งแวดล้อม" ระดับชาติอย่างเป็นระบบ รวมไปถึงการปรับเปลี่ยนโลกทัศน์และจิตสำนึกทางสิ่งแวดล้อมของผู้คนในทุกวงการ แนวคิด "นวัตกรรมทางสิ่งแวดล้อม" ไม่ได้เน้นเรื่องเทคโนโลยีอย่างเดียว หากแต่ให้ความสำคัญสูงสุดแก้ "การจัดการทางสิ่งแวดล้อม" (Environmental Management) ด้วย ซึ่งจะต้องทำกันทั้งในภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชน ดังจะเห็นได้จากความสำเร็จในกลุ่มประเทศสวีเดน เดนมาร์ก ฮอลแลนด์ และเยอรมนี ซึ่งถือได้ว่ากำลังเป็นผู้นำในด้าน "นวัตกรรมทางสิ่งแวดล้อม"
เอกสารอ้างอิง
1. The Economist, A Special Report : Reflections on the 20th Century Liberty, Equality, Humility,(September 11-17th 1999)
2. B.BRUEL, Agenda 21-Vision : Nachhaltige Entwicklung (ภาษาเยอรมัน เพื่อต้อนรับงานมหกรรมโลก EXPO 2000 ที่เมืองฮันโนเฟอร์, เป็นการวิเคราะห์แนวโน้มสิ่งแวดล้อมโลกในศตวรรษที่ 21, รวมบทความของผู้เชี่ยวชาญเยอรมันเกี่ยวกับ"การพัฒนาที่ยั่งยืนในอนาคต" พิมพ์โดย CAMPUS, Frankfurt 1999)
3. U.BECK, Schone Neue Arbeitswelt (ภาษาเยอรมันเพื่อต้อนรับงาน EXPO 2000 เช่นกัน เป็นการวิเคราะห์แนวโน้มของโลกการทำงานในศตวรรษที่ 21 ซึ่งจะเกี่ยวพันกับปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างแยกจากกันไม่ได้ พิมพ์โดย CAMPUS, Frankfurt 1999)
ค้นคว้ามาจาก บทความของ มูลนิธิสวัสดี เนื่องจากเป็นบทความที่ดีและตรงกับที่กำลังศึกษาอยู่ เป็นบทความที่มีประโยชน์มากครับ และต้องขอขอบพระคุณ บทความนี้จากมูลนิธิสวัสดี อีกครั้งครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น