วันพุธที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2555

กลยุทธ์น่านน้ำสีคราม (Blue Ocean Strategy : BOS)

กลยุทธ์น่านน้ำสีคราม (Blue Ocean Strategy : BOS)

        กลยุทธ์น่านน้ำสีคราม (Blue Ocean Strategy : BOS) มาจากนักวิชาการสองคือ W. Chan Kim และ Renee Mauborgne ซึ่งเป็นอาจารย์จาก INSEAD สถาบันทางด้านบริหารธุรกิจชื่อดังในฝรั่งเศส     ทั้งสองท่านได้ร่วมกันเขียนบทความที่นำไปสู่เรื่องของ Blue Ocean  ในวารสาร Harvard Business Review  และออกเป็นหนังสือชื่อ Blue Ocean Strategy
          Blue Ocean Strategy เป็นกลยุทธ์ที่กำหนดขึ้นมาเพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันแบบดั้งเดิมโดยผู้ประกอบการต้องพยายามพัฒนาสินค้าให้มีความแตกต่าง หรือต้องสร้างความต้องการใหม่ๆ (New Demand) ขึ้นมาเสมอโดยใช้นวัตกรรม (Innovation) ใหม่ๆ หรือน่านน้ำใหม่ซึ่งเปรียบเทียบได้กับทะเลสีครามสวยงาม    ซึ่งตรงกันข้ามทะเลเลือดหรือการแข่งขันอย่างดุเดือดของธุรกิจที่เราพบเห็นอยู่ทั่ว ๆ ไปในปัจจุบัน กล่าวคือ  มุ่งเน้นในการเอาชนะคู่แข่งอื่น ๆ เพื่อที่จะแย่งชิงลูกค้ามาให้ได้มากที่สุด และทำให้ได้กำไรมากที่สุด ในธุรกิจที่สินค้าและบริการในอุตสาหกรรมก็จะมีลักษณะที่เหมือนๆ กัน     จึงทำให้กลยุทธ์น่านน้ำสีครามได้รับการตอบรับที่ดีในปัจจุบัน (พสุ เดชะรินทร์, 2550 : ออนไลน์)
          Blue Ocean Strategy เป็นกลยุทธ์ที่เน้นการหลีกเลี่ยงการแข่งขันที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บจากการแข่งขันทางธุรกิจ   โดยองค์กรที่ใช้กลยุทธ์ดังกล่าวจะไม่สนใจต่อการแข่งขันหรือตัวคู่แข่งขัน   กล่าวคือ  จะไม่เข้าไปแข่งขันในตลาดหรืออุตสาหกรรมเดิมๆ แต่จะพยายามสร้างตลาดหรืออุตสาหกรรมใหม่ๆ และแตกต่างที่ยังไม่มีใครสร้างหรือเข้าไปพัฒนา และแทนที่จะเป็นการเอาชนะคู่แข่งกลับเป็นการทำให้คู่แข่งล้าสมัยไป              ดังนั้น หากผู้ประกอบการจะสร้างกลยุทธ์ขององค์กรให้เป็นกลยุทธ์แบบ น่านน้ำสีคราม   เพื่อสร้างโอกาสให้ธุรกิจ ผู้ประกอบการจำเป็นต้องพิจารณาก่อนว่าลูกค้าในอุตสาหกรรมของตนเอง ณ เวลานั้นซื้อสินค้าหรือบริการด้วย เหตุผล  ด้วย ราคาที่ต่ำ  หรือซื้อที่ ความแตกต่างของผลิตภัณฑ์
          หัวใจสำคัญของ Blue Ocean Strategy คือ ลูกค้า (Customers) เพราะหน้าที่ของธุรกิจทั้งหลายก็คือการทำให้ลูกค้ามี    หลายๆ ครั้งที่ผู้บริหารหรือนักการตลาดมักจะมองแต่เรื่องของการสร้างตราสินค้า (Branding) และคุณสมบัติ (Features) ของสินค้าและบริการ จากมุมมองของตนเอง  มากกว่าการมองจากมุมมองของลูกค้าหรือผู้ใช้งานจริง     การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ  หรือนวัตกรรมใหม่ๆ  จึงไม่อาจเรียกว่านวัตกรรมได้ หากไม่ได้รับการตอบสนองที่ดีจากลูกค้า     ดังนั้นหัวใจสำคัญของกลยุทธ์น่านน้ำสีครามก็คือการสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่ยังไม่เคยมีใครเข้าถึงมาก่อน   ซึ่งสามารถค้นหาได้โดยการตั้งคำถามที่แตกต่าง และการสังเกตพฤติกรรมของลูกค้าอย่างใกล้ชิดจนสามารถเข่าถึงความต้องการที่ซ่อนอยู่ของลูกค้าได้ (พสุ เดชะรินทร์, 2550 : ออนไลน์)
          กรณี  ตัวอย่าง เกมวี (Wii) ซึ่งเป็นเครื่องเล่นวิดีโอเกมของ บริษัท นินเทนโด   ที่มีแนวคิดพัฒนาสินค้าให้กลุ่มลูกค้าที่ไม่ใช่ลูกค้า ด้วยการพัฒนาเกมที่ทุกคนในบ้าน สามารถเล่นด้วยกันครั้งละหลายๆ คน  และไม่ต้องอาศัยการเล่นด้วยการนั่งกดปุ่มจอยสติกส์ เท่านั้น  แต่สามารถออกท่าทางในการเล่น อาทิ ตีกอล์ฟ  เล่นเทนนิส  โยคะ หรือแม้แต่เล่นฮูลาฮูบ  สรุปคือเป็นเครื่องเล่นที่สามารถให้ทั้งความสนุกและเป็นเครื่องออกกำลังกายไปพร้อมๆ กันได้   Wii ออกจำหน่ายเมื่อปี 2549  และกลายเป็นบริษัทเกมอันดับ 1 ในโลก เพราะสามารถขยายฐานลูกค้า ในส่วนที่ไม่ใช่ลูกค้าหลักได้ภายในระยะเวลาที่รวดเร็วทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นมหาศาล  "เท่ากับเป็นการสร้างน่านน้ำใหม่ ให้คนที่ยังไม่เคยคิดถึงสินค้าของคุณ"  (กรุงเทพธุรกิจออนไลน์, 2552 : ออนไลน์)
          อาจสรุปได้ว่า กลยุทธ์น่านน้ำสีครามคือ การสร้างตลาดใหม่โดยไม่ต้องแข่งขันกันอย่างดุเดือดและมีคู่แข่งจำนวนมากที่เสี่ยงต่อการล้มเหลวจากการแข่งขันกับคู่แข่งที่มีธุรกิจเหมือนๆ กันตั้งแต่แรก   อย่างไรก็ตามน่านน้ำสีครามที่สวยงามก็อาจกลับกลายเป็นน่านน้ำสีแดงได้เช่นกันเมื่อเวลาผ่านไป  และมีธุรกิจอื่นๆ เห็นช่องทางการทำธุรกิจเช่นเดียวกับเรา    จึงต้องมีการสร้างน่านน้ำสีครามอย่างต่อเนื่องอาจโดยการค้นหาแนวนวัตกรรมใหม่  สินค้าชนิดใหม่ หรือบริการใหม่ๆ  เพื่อหลีกเหลี่ยงการต้องเข่งขันอย่างร้อนแรงกับธุรกิจอื่นๆ ในอนาคต

ขอขอบพระคุณบทความที่ให้ความรู้และมีประโยชน์เป็นอย่างมาก ของ WWW.SARA-DD.COM เป็นอย่างสูงครับ

วันอังคารที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2555

มะกรูด


มะกรูด
          
     


     มะกรูด เป็นพืชในสกุลส้ม (Citrus) เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก เป็นไม้เนื้อแข็ง ลำต้นและกิ่งมีหนามยาวเล็กน้อยใบเป็นใบประกอบ
ชนิดลดรูป มีใบย่อย 1 ใบ เรียงสลับ รูปไข่ คือมีลักษณะคล้ายกับใบไม้ 2 ใบ ต่อกันอยู่ คอดกิ่วที่กลางใบเป็นตอนๆ มีก้านแผ่ออกใหญ่เท่ากับ
แผ่นใบ ทำให้เห็นใบเป็น 2 ตอน กว้าง 2.5-4 เซนติเมตร ยาว 4-7 เซนติเมตร ใบสีเขียวแก่พื้นผิวใบเรียบเกลี้ยง เป็นมัน ค่อนข้างหนา
มีกลิ่นหอมมากเพราะมีต่อมน้ำมันอยู่ ใบด้านบนสีเข้ม ใต้ใบสีอ่อน ดอกออกเป็นกระจุก 3 – 5 ดอก กลีบดอกสีขาว เกสรสีเหลือง ร่วงง่าย
มีกลิ่นหอม มีผลสีเขียวเข้มคล้ายมะนาวผิวเปลือกนอกขรุขระ ขั้วหัวท้ายของผลเป็นจุก ผลอ่อนมีเป็นสีเขียวแก่ เมื่อผลสุกจะเปลี่ยนเป็น
สีเหลืองสด พันธุ์ที่มีผลเล็ก ผิวจะขรุขระน้อยกว่าและไม่มีจุกที่ขั้ว ภายในมีเมล็ดจำนวนมาก
          ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นิยมใช้ใบมะกรูดและผิวมะกรูดเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องปรุงอาหารหลายชนิด
นอกจากในประเทศไทยและลาวแล้วยังมีความนิยมในกัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย (โดยเฉพาะบาหลี)


ชื่อสามัญ :               Porcupine Orange, Kiffir Lime, Leech Lime
ชื่อวิทยาศาสตร์ :     Citrus hystrix DC.
ชื่อท้องถิ่น :              มะขุน มะขูด (ภาคเหนือ) มะหูด (หนองคาย) ส้มกรูด ส้มมั่วผี (ภาคใต้) โกรยเซียด (เขมร) มะขู (กะเหรี่ยง – แม่ฮ่องสอน)


 ลักษณะ
มะกรูดเป็นพืชที่ใช้เป็นเครื่องเทศมานานแล้ว โดยใช้ผิวของผล เป็นส่วนผสมในเครื่องแกงหลายชนิด ใช้เข้าเครื่องหอมโดยเป็นส่วนผสม
ในเทียนอบ ใบมะกรูดมีกลิ่นหอมใช้แต่งกลิ่นในอาหารคาวหลายชนิดเช่น ต้มยำ แกงเผ็ด น้ำมะกรูดใช้ปรุงอาหารเพื่อให้มีรสเปรี้ยวและดับกลิ่น
คาวปลาคนโบราณนิยมสระผมด้วยน้ำมะกรูด เพราะช่วยให้ผมดำเป็นมัน ไม่แห้งกรอบ คนไทยนิยมปลูกมะกรูดไว้ตามบ้านและในสวน มะกรูด
เป็นไม้พุ่มยืนต้นขนาดเล็ก ใบมีกลิ่นหอม ผลค่อนข้างกลม ผิวขรุขระมีปุ่มนูน และมีจุกที่หัวของผล ส่วนที่ใช้ คือ ใบและผล
 ส่วนที่ใช้
ผล ผิวของผล น้ำของผล ใบ และราก

 สารสำคัญ
ในใบและผลมะกรูด เมื่อนำมากลั่นด้วยไอน้ำจะให้น้ำมันหอม ระเหยในปริมาณ 0.08 % และ4 % ตามลำดับ น้ำมันหอมระเหยจากผิว
มะกรูดมักประกอบด้วยเบต้า-ไพนีน, ไลโมนีนและซาบินีน เป็นสารหลัก ส่วนน้ำมันหอมระเหยจากใบจะประกอบด้วย ซีโทรเนลลาล,
ไอโซพูลิโกล และไลนาลูออล เป็นสารหลัก ส่วนในน้ำมะกรูดมีกรดซิตริก ไวตามินซี และกรดอินทรีย์ชนิดอื่น ๆ เป็นส่วนประกอบ
 คุณสมบัติ
  1. ใช้เป็นยาหรือส่วนผสมของยาต่าง ๆ คือ น้ำในผลแก้อาการท้องอืด ช่วยให้เจริญอาหาร น้ำมะกรูดใช้ดองยา เพื่อใช้ฟอกเลือด และบำรุงโลหิตสตรี เนื้อของผลใช้เป็นยาแก้อาการปวดศีรษะ ใบมะกรูดใช้เป็นยาขับลมในลำไส้ แก้จุกเสียด ผลมะกรูดที่คว้านไส้ออกนำมหาหิงส์ใส่แทนใช้เป็นยาขับลมแก้ปวดท้องในเด็กอ่อน
  2. ใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องหอมและเครื่องสำอางค์ต่าง ๆ
  3. กรด Citric ช่วยขจัดคราบสบู่ (ด่าง) ที่หลงเหลืออยู่ ทำให้ผมหวีง่าย น้ำมันจากผิวมะกรูดช่วยให้ผมดกเป็นเงางาม
  4. ใช้ปรุงแต่งกลิ่นรสอาหาร ในดับกลิ่นคาวของอาหาร ใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องแกงต่าง ๆ (รุ่งรัตน์, 2535)
  5.  ลักษณะทางพฤกษศาสตร
    มะกรูดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ต้นสูง 2 – 8 เมตร ประกอบไปด้วย
    1. ใบ มีใบย่อยเพียงใบเดียว ใบค่อนข้างหนา มีสีเขียวแก่ มีกลิ่นหอม
    2. ดอกมีสีขาว ออกเดี่ยวๆ อยู่เป็นกระจุก 3-5 ดอก กลีบดอกร่วงง่าย
    3. ผล เป็นผลเดี่ยวค่อนข้างกลม บางพันธุ์มีผิวขรุขระ มีจุกที่หัวผล (เชษฐา, 2525)
     สรรพคุณทางยา
    ขับลมแก้จุกเสียด
    วิธีใช้
    1. ตัดจุกผลมะกรูด คว้านไส้กลางออก เอามหาหิงส์ใส่แล้วปิดจุก นำไปเผาไฟจนดำเกรียม บดเป็นผงละลายกับน้ำผึ้งรับประทาน จะช่วยขับลม แก้ปวดท้องหรือป้ายลิ้นเด็กอ่อน เป็นยาขับขี้เทาได้
    2. น้ำมะกรูดใช้ถูกฟัน แก้เลือดออกตามไรฟัน
    3. เอาผลมะกรูดมาดอง เป็นยาดองเปรี้ยวรับประทานขับลมขับระดู
    4. เปลือกผลฝานบาง ๆ ชงน้ำเดือดใส่การะบูรเล็กน้อย รับประทานแก้ลมวิงเวียน
    5. เปลือกฝนใช้ผสมในเครื่องสำอางบางชนิด เช่น แชมพู สบู (เชษฐา, 2525)
     ขนาดการใช้และผลที่ได้รับจากการรักษาโรค
    • แก้ลม บำรุงหัวใจ ใช้ผิวสดหั่นเป็นชิ้น ผสมการะบูรหนึ่งหยิบมือ ชงน้ำเดือด คนให้ละลาย ปิดฝาทิ้งไว้ 3 – 5 นาที ดื่มเอาแต่น้ำ ช่วยให้ระบบไหลเวียนของโลหิตดี
    • ยาขับเสมหะ แก้ไอ ใช้ผลมะกรูดผ่าซีกเติมเกลือ ลนไฟให้เปลือกนิ่ม บีบน้ำมะกรูดลงในคอทีละน้อย ๆ
    • เป็นยาสระผม หรืออาบ นำมะกรูดผ่าซีกลงในหม้อ ต้มอาบได้น้ำมันหอมระเหยอยู่บนผิว ทำให้ผิวไม่แห้ง และรสเปรี้ยวของมะกรูดช่วยให้อาบสะอาด นอกจากนี้ใช้มะกรูดผ่าซีกเอาน้ำมาสระผม
 วิธีการปลูก
ควรปลูกด้วยกิ่งตอน ก่อนจะปลูกควรนำปุ๋ยคอกมาใส่ผสมกับดิน เพื่อให้ดินมีอาหารอุดมสมบูรณ์ดี หลุมที่ปลูกมีขนาดกว้าง x ยาว x ลึก
ประมาณ80เซนติเมตรก่อนที่จะวางพืชลงปลูกในหลุมควรหาใบไม้ใบหญ้าแห้งที่เน่าเปื่อยผุพังใส่รองก้นหลุมระยะปลูกประมาณ 5 x 5เมตร
 การปฏิบัติดูแลรักษา
  1. การให้น้ำ ในระยะที่ปลูกมะกรูดใหม่ ๆ ต้องหมั่นรดน้ำให้ความชุ่มชื้นแก่พืช จะทำให้พืชตั้งตัวได้เร็ว แตกใบอ่อนกิ่งอ่อนดี
  2. การใส่ปุ๋ย ควรใส่ปุ๋ยเพิ่มธาตุอาหารให้พืชเป็นครั้งคราว ซึ่งอาจเป็นปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยวิทยาศาสตร์ และปุ๋ยชีวภาพก็ได้ ปกติจะรับประทานใบมะกรูดเป็นอาหารจึงมักใช้ปุ๋ยที่มีไนโตรเจนสูง เช่น 20-14-14 หรือใส่ปุ๋ยพื้น เช่น 15-15-15
  3. การป้องกันกำจัดศัตรูพืช จะมีหนอนของผีเสื้อกลางคืนกัดกินใบมะกรูดและยอดอ่อน จึงควรตรวจตราจับหนอนดังกล่าวในเวลาเช้าแล้วทำลายทิ้งเสีย
 การนำมาใช้
การใช้มะกรูดสระผมน่าจะรู้จักกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ วิธีการสระ บ้างก็ใช้ผลดิบผ่าแล้วบีบน้ำสระโดยตรง บ้างก็นำไปเผา หรือต้มก่อนสระ
มะกรูดยังมีใช้ในพระราชพิธีสำคัญ เช่น พระราชพิธีโสกันต์ ซึ่งระบุไว้ในพระราชพิธีสิบสองเดือนไว้ ว่าจะต้องมีผลมะกรูดและใบส้มป่อย
ประกอบในพิธีด้วย เข้าใจว่าน่าจะใช้เพื่อการสระผมนั่นเอง และก็สามารถนำไปล้างพื้นได้ด้วย ซึ่งเป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งเช่นกันน้ำมะกรูด
มีรสเปรี้ยว กลิ่นฉุนคล้ายใบ แต่ไม่ค่อยจะได้ประโยชน์กันมาก ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะหาได้ยากกว่า และได้น้ำน้อยกว่าเพราะมะกรูด
มีส่วนเปลือกที่หนา ขณะที่มะนาวหาได้ง่ายกว่า น้ำมากกว่า และรสชาติที่ถูกปากมากกว่า อย่างไรก็ตาม มีอาหารบางชนิดที่นิยม
ใช้น้ำมะกรูดเช่นกัน นอกจากนั้น ในมะกรูดมีน้ำมันหอมระเหยอยู่มาก มีกลิ่นฉุน ทั้งในใบ และผล บางครั้งสามารถนำไปใช้ไล่แมลงบางชนิด

ขอขอบคุณบทความ จาก http://www.the-than.com/samonpai/sa_16.html  มากนะครับ


มะคำดีควาย


มะคำดีควาย
ชื่อภาษาไทยมะคำดีควาย
ชื่อภาษาอังกฤษSoapberry
ชื่อวิทยาศาสตร์Sapindus emarginatus Wall. วงศ์ SAPINDACEAE
ชื่ออื่นประคำดีควาย
รายละเอียด
ไม้ยืนต้น สูง 10-30 เมตร ใบประกอบแบบขนนก เรียงสลับ ใบย่อยรูปไข่ หรือรูปไข่แกมขอบขนาน กว้าง5-7 ซม.ยาว 10-14ซม. ดอกช่อ ออกที่ปลายกิ่ง แยกเพศ อยู่บนต้นเดียวกัน กลีบดอกสีนวล ผลสด รูปกลม
สรรพคุณ ผล - ใช้ผลทุบให้แตก แช่น้ำล้างหน้า รักษาผิว แก้รังแค แก้ชันนะตุ (โรคผิวหนังพุพองบนศีรษะเด็ก)มีรายงานว่า เนื้อผลมีสารซาโปนิน ที่มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเชื้อรา ที่ทำให้เกิดโรคกลากได้ดี

















 
ขอขอบคุณ http://www.the-than.com/samonpai/sa_35.html มากครับ





วันศุกร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2555

แก้วที่ไม่เคยพอ


แก้วที่ไม่เคยพอ

เรามักถูกสอนให้มองด้านดีว่า แก้วที่มีน้ำอยู่ครึ่งแก้วนั้น มีน้ำเหลือตั้งครึ่งแก้ว มากกว่าที่จะมองว่าน้ำหายไปครึ่งแก้ว แต่จะมองด้านไหนก็ตาม ก็ทำให้เราคิดว่า แก้วยังขาด พร่อง ยังต้องหาน้ำมาเติมให้เต็ม

ตลอดชีวิตที่ผ่านมา เราจะรู้สึกว่า เรายังมีไม่พอ ต้องมีนั่น มีนี่เสียก่อน แล้วเราจะอิ่มจะเต็ม สิ่งหนึ่งที่เราไม่เคยถูกสอนก็คือ ไม่ว่าเราจะพัฒนาความสามารถในการหาเงิน หาของ หาความรักให้ได้มากสักเท่าไหร่ก็ตาม น้ำในแก้วไม่มีวันเต็ม เพราะความอยากในใจเราไม่เคยหยุด แก้วของเราก็จะโตขึ้นไปเรื่อยๆ ไม่เคยพอ

เมื่อก่อนที่เราเคยคิดว่า ถ้าเรามีเงินล้าน เราจะมีความสุข พอเรามีเข้าจริงๆ ปริมาณความต้องการ มาตรฐานการครองชีพ ความเป็นอยู่ของเราก็โตรุดหน้าไป จนเราต้องหาเพิ่มตลอดเวลา ซึ่งอย่าว่าแต่คนมีเงินสิบล้าน ร้อยล้านเลย ขนาดคนที่มีเงินเป็นหมื่นล้าน ยังหาเงินอย่างไม่รู้จักอิ่มไม่รู้จักพอ เมื่อก่อนเราถือกระเป๋าใบละพันก็เก๋แล้ว เดี๋ยวนี้กระเป๋าผู้หญิงใบละ 7 - 8 แสน หรือถึงล้านก็ถือกันเกลื่อน คนที่เรารักหนักหนา ยากลำบากกว่าจะได้มา พออยู่กันไปนานๆ ใจเราก็เรียกร้องขึ้น ๆ เห็นจุดอ่อนข้อบกพร่อง ไม่อิ่ม ไม่เต็มได้ตลอดเวลา แก้วน้ำหรือความอยากในใจเราไม่เคยหยุดโต หาเท่าไหร่ไม่เคยเต็ม

เคล็ดลับความสุขก็คือ เราสามารถที่จะพยายามอย่างเต็มที่ในการที่จะหาเงิน หาความรัก เหมือนหาน้ำมาใส่แก้ว แต่สิ่งที่สำคัญกว่าก็คือ เราต้องเรียนรู้ที่จะปรับขนาดของแก้วให้พอดีกับน้ำ ให้ใจเราสามารถที่จะมีความสุขสงบพอใจกับขณะนี้ เดี๋ยวนี้ โดยไม่ต้องรออนาคต

ถ้าเรามีน้ำอยู่ครึ่งแก้ว แต่เราสามารถลดขนาดของแก้วน้ำลงจนเหลือเพียง 1 ใน 4 น้ำที่มีครึ่งแก้ว ก็จะล้นเกินอยู่อีกเท่าตัว มีเกินพอสำหรับเรา และพอที่จะแบ่งให้คนอื่น เมื่อเราเต็ม เราก็ไม่ต้องไปวิ่งหาน้ำมาเติมอีก มีเวลาเหลือเฟือให้ลูก ให้คนที่เรารัก ให้กับการพัฒนาจิตใจตัวเอง ให้กับสิ่งที่มีความหมายต่อชีวิตเราอย่างแท้จริง

เข็มทิศ


การลดขนาดของแก้วก็คือ การที่เราหมั่นตามรู้ ตามดูจิตใจ ความรู้สึก ความคิดของเรา แต่ละขณะที่เรารู้ทันใจเราที่อยากได้ อยากให้คนอื่นคิดให้ถูกใจเรา ทุกขณะที่เรารู้ทัน ความอยากทำงานไม่ได้ เราก็ได้ลดขนาดของแก้วลงทุกขณะที่เรามีความรู้สึกตัว ชีวิตเราก็จะเป็นแก้วที่อิ่มเต็มพอดี พอเพียงมีความสุขมั่นคง






ขอขอบคุณบทความ จาก www.dhammajak.net/index2.php?option=com_content&task=view&id=720&pop=1&page=0 เป็นอย่างสูง ที่กระผมนำบทความนี้มาเสนอเพราะเป็นบทความที่ให้แนวความคิดที่ดีต่อผู้อ่าน ขอขอบพระคุณมากครับ