วันอาทิตย์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2555

สิ่งแวดล้อมในสหัสวรรษหน้า : กระแสไทย กระแสโลก


สิ่งแวดล้อมในสหัสวรรษหน้า : กระแสไทย กระแสโลก

           ในการวิเคราะห์แนวโน้มของโลกในศตวรรษที่ 20 ที่กำลังจะสิ้นสุดลง นิตยสาร The Economist ชื่อดังของอังกฤษ ได้ข้อสรุปว่า สิ่งแวดล้อมโลกที่ผ่านมา 100 ปี ไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิดกันเลย ตรงกันข้ามภาวะแวดล้อมของโลกอยู่ในสภาพที่ดีมาตลอดจนถึงปัจจุบัน และก็คงดำรงอยู่เช่นนี้ต่อไปในศตวรรษหน้า แม้ว่าประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา แต่ก็ไม่ได้สร้างปัญหามากมายนัก เพราะการผลิตทางเศรษฐกิจของโลกก็ขยายตัวมากเช่นเดียวกัน การที่สิ่งแวดล้อมโลกไม่พบกับความหายนะ (ตามที่หลายฝ่ายพยากรณ์ไว้เป็นเพราะว่าหลายสิ่งหลายอย่างได้เปลี่ยนไป : มีการเปลี่ยนแปลงด้านราคาของทรัพยากร มีการเปลี่ยนแปลงทางสังคม มีการพัฒนาประชาธิปไตย มีการวางนโยบายสิ่งแวดล้อมเพื่อตอบสนองแรงกดดันจากประชาชน)
         จะเห็นได้ว่าเมื่อมีผู้คนมากขึ้น บริโภคมากขึ้น ผลิตมากขึ้น ก็มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้น แต่เมื่อเกิดภาวะขาดแคลนราคาก็จะเริ่มสูงขึ้น ผลักดันให้มีการประหยัดในการใช้ กระตุ้นให้มีการแสวงหาทรัพยากรแหล่งใหม่ๆ ประเภทใหม่ๆ เทคโนโลยีใหม่ๆ เปิดหนทางใหม่ๆ ให้มนุษยชาติเสมอ กลไกราคามีประสิทธิภาพพอสมควรในการแก้ไขปัญหาทรัพยากรธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม เราต้องยอมรับว่า บางครั้งบางกรณี กลไกตลาดไม่อาจแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อย่างน่าพอใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีบางสิ่งบางอย่างในธรรมชาติที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ในกรณีนี้ก็มีแนวโน้มว่าจะมีการใช้ทรัพยากรอย่างล้างผลาญ ไม่มีใครสนใจที่จะอนุรักษ์ ตัวอย่างเช่น ทรัพยากรในทะเลและมหาสมุทร ซึ่งจะถูกคุมคามต่อไปในศตวรรษหน้า
           นอกจากนั้นในบางเรื่อง ความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมไม่ได้ปรากฏออกมาให้เราเห็นใน "ราคา" เช่น มีการปล่อยมลพิษออกมาสู่อากาศและน้ำ สร้างความเสียหายให้แก่ระบบนิเวศและชุมชนอย่างใหญ่หลวง แต่ราคาสินค้าไม่ได้สะท้อนให้เห็นความเสียหายเหล่านี้เลย ทั้งนี้เป็นเพราะภาคธุรกิจเอกชนต้องการลดต้นทุนให้ต่ำและต้องการแสวงหากำไรสูงสุดต่อไป โดยปล่อยให้ชุมชน สังคม และธรรมชาติต้องพบกับความหายนะจากมลพิษ ดังที่เรากำลังพบเห็นในประเทศที่กำลังพัฒนาทั่วโลก
          The Economist ชี้ว่า ในประเทศอุตสาหกรรมที่ก้าวหน้า มลพิษไม่ค่อยจะเป็นปัญหาใหญ่มากนัก เพราะที่นั่นมีระบอบประชาธิปไตยที่พัฒนาแล้ว มีการตรวจสอบ มีการกดดันจากประชาชนตลอดเวลา และรัฐบาลประชาธิปไตยก็ต้องตอบสนองความต้องการของประชาชน โดยมีความสำนึกว่าต้องทำบางสิ่งบางอย่าง และก็มีการทำสิ่งเหล่านั้นไปแล้ว
          ดังจะเห็นได้ว่ามลพิษทางอากาศในสังคมอุตสาหกรรมที่มีความรุนแรงมานานถึง 300 ปี ได้รับการแก้ไขอย่างน่าพอใจมีสิ่งเดียวที่ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ คือ รัฐบาลไม่สามารถควบคุมมลพิษจากรถยนต์ได้ และก็คงเป็นเช่นนี้ต่อไปอีกนาน ในประเทศที่กำลังพัฒนา ปัญหานี้ก็คงจะยืดเยื้อต่อไปอีกนานในศตวรรษหน้านี้
นิเวศวิกฤตในโลกที่กำลังพัฒนา
           ในการวิเคราะห์ของ The Economist อาจมีการมองปัญหาสิ่งแวดล้อมในแง่ดีเกินไป และมองเพียงด้านเดียว อย่างเช่น เรื่องมลพิษทางอุตสาหกรรม มีการสรุปว่าแต่ละปีการปล่อยมลพิษออกสู่อากาศ ประเภทต่างๆ มีปริมาณลดน้อยลงเป็นลำดับ แต่ไม่มีการมองว่า สารพิษหรือมลพิษที่ตกค้างและสะสมในสิ่งแวดล้อมเป็นระยะยาวในโลกอุตสาหกรรมได้เพิ่มขึ้นตลอดเวลา ซึ่งแนวโน้มนี้จะยังคงมีอยู่ต่อไป ในศตวรรษหน้า เพราะจนถึงบัดนี้ รัฐบาลในประเทศอุตสาหกรรม อย่างเช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเยอรมนียังไม่ประสบผลสำเร็จ ในการแก้ไขปัญหามลพิษที่สะสมในระยะยาวแต่อย่างใดเลย (จากข้อสรุปของนักนิเวศวิทยาการเมืองในเยอรมนี) 
           ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าแนวนโยบายสิ่งแวดล้อมกระแสหลักเน้นแต่การแก้ไขปัญหาที่มองเห็นได้รู้สึกได้ และมุ่งจุดหนักไปทางด้านมลพิษระยะสั้นที่มีผลอย่างฉับพลันต่อสุขภาพของประชาชน มลพิษที่ตกค้างสะสมระยะยาวเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยจะมองเห็นได้ง่าย จึงถูกละเลยไป นอกจากนั้นในการวิเคราะห์ปัญหาประชากรของโลก บางทีมีการมองข้ามข้อเท็จจริงที่สำคัญข้อหนึ่งไป นั่นคือ  แม้ว่าอัตราการขยายตัวจะมีไม่มากเหมือนแต่ก่อน แต่ในช่วงเปลี่ยนศตวรรษนี้ประชากรโลกจะเพิ่มปีละประมาณ 80 ล้านคน  (เท่ากับประชากรของเยอรมนีทั้งประเทศ) นั่นหมายความว่า ท่ามกลางความยากจนและความเสื่อมโทรมทางสิ่งแวดล้อม ในชนบท ปริมาณประชากรขนาดนี้จะยิ่งทำให้ภาวะวิกฤตทางสิ่งแวดล้อมมีความรุนแรงขึ้น ซึ่งจะกระเทือนไปถึงระบบการผลิตอาหาร และ วิถีการดำรงชีวิตของผู้คนในประเทศที่กำลังพัฒนา
           การเพิ่มประชากรอย่างมากๆ เช่นนี้ จะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเมืองและการครองชีพในเขตเมืองด้วย ในขณะนี้ทั่วโลกมีประชากร 2.6 พันล้านคนอาศัยอยู่ในเมืองต่างๆ ในจำนวนนี้ 1.7 พันล้านคน อยู่ในเมืองของประเทศที่กำลังพัฒนา จนถึงปี ค.ศ.2015 คาดว่าสัดส่วน จะเพิ่มอย่างรวดเร็วขึ้น 3 ใน 4 ของประชากรเมืองของโลกจะอยู่ในประเทศที่กำลังพัฒนาที่มีความแออัดสูง และมีปัญหารุนแรงทางด้านสุขอนามัย เมื่อเรานำ "สูตรสิ่งแวดล้อม" ที่ลือชื่อของนักนิเวศวิทยา Anne และ Paul Ehrlich มาเป็นพื้นฐานในการมองปัญหา เราจะได้ข้อสรุปว่า ในอนาคตวิกฤตการณ์ทางสิ่งแวดล้อมของโลกมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นอย่างแน่นอน สูตรนี้บ่งว่า
           วิกฤตสิ่งแวดล้อม (I) ถูกกำหนดโดยจำนวนประชากร (P), ความเจริญทางเศรษฐกิจ (A) และเทคโนโลยีการผลิต (T) คือ I = P x A x T 
           นอกจากจำนวนประชากรแล้ว ความเจริญทางเศรษฐกิจยังเป็นตัวแปรสำคัญ ยิ่งพัฒนามากก็ยิ่งผลิตมาก บริโภคมากและใช้ทรัพยากรธรรมชาติมาก สร้างความตึงเครียดให้แก่ระบบนิเวศ นอกจากนี้แล้วการผลิต 1 หน่วยอาจสร้างมลพิษในปริมาณที่มาก เพราะมีการใช้เทคโนโลยีที่ไม่ค่อยสะอาด เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ในยุคโลกาภิวัตน์ที่มีการใช้ปรัชญาตลาดเสรีอย่างแพร่หลายทั่วโลกในช่วงเปลี่ยนศตวรรษนี้ เป็นที่วิตกว่า การค้าการผลิตและการบริโภคจะเร่งให้มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างเผาผลาญ และมีการทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างหนักหน่วงมากขึ้น

ประชาธิปไตยและสิ่งแวดล้อม
¬ สำหรับอนาคตของโลกที่กำลังพัฒนา เราพอจะสรุปบทเรียนที่สำคัญๆ ได้ว่ามลพิษที่ร้างแรงที่สุดมักจะเกิดขึ้นในกลุ่มประเทศที่ยากจน ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาพื้นฐานบางอย่าง นั่นคือ ในประเทศเหล่านั้นไม่ค่อยจะมีการพัฒนาประชาธิปไตย ดังนั้นประชาชนจึงไม่มีสิทธิมีเสียง ไม่อาจเข้าถึงข้อมูล ข่าวสารเกี่ยวกับ สิ่งแวดล้อม ไม่อาจเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาล ไม่อาจคัดค้านต่อธุรกิจที่ก่อมลพิษ ความขาดแคลนประชาธิปไตย จึงเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ทางสิ่งแวดล้อม
¬ การมีมลพิษที่รุนแรงขึ้น ไม่ได้เกิดจากเพราะว่ามีการพัฒนาเศรษฐกิจมากเกินไป แต่เป็นเพราะว่าในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนา รัฐบาลและภาคธุรกิจเอกชนเน้นแต่เรื่องการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (เพื่อเพิ่มรายได้ประชาชาติและการส่งออก) แต่เมื่อการพัฒนา ดำเนินมาระยะหนึ่ง ผู้คนหลายวงการเริ่มมีการพัฒนาจิตสำนึก "สีเขียว" และมีการเรียกร้องให้คำนึงถึงหลักการ "การพัฒนาแบบยั่งยืน" มากขึ้น ในระยะนี้รัฐบาลจึงต้องตอบสนองในการริเริ่มวางนโยบายสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายว่าการพัฒนาเศรษฐกิจต้องเกิดขึ้น พร้อมกับการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม แต่ทั้งนี้ต้องมี "ประชาธิปไตยทางสิ่งแวดล้อม" เป็นพื้นฐานรองรับที่สำคัญ
¬ เมื่อมองจากประสบการณ์ 100 ปี ของโลกตะวันตก เราอาจมองไปข้างหน้าได้ว่า ในศตวรรษที่ 21 ประเทศที่กำลังพัฒนา ก็คงจะแสวงหาหนทางแก้ไขวิกฤตการณ์ทางสิ่งแวดล้อมของตนเองได้ แต่ประเทศเหล่านั้นจะประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ อย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง :
è จะต้องมีข้อมูลข่าวสารที่ค่อนข้างสมบูรณ์เพื่อเปรียบเทียบต้นทุนของการควบคุมทางสิ่งแวดล้อมกับประโยชน์ที่สังคม  ได้จากการควบคุมนี้
è มีมาตรการที่มีประสิทธิภาพซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างมาตรการทางตลาดและราคากับมาตรการทางด้านการวาง มาตรฐานสิ่งแวดล้อม
           ในที่สุดแล้ว การแก้ไขวิกฤตการณ์ทางสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เป็นปัญหาเศรษฐกิจอย่างเดียว (เช่น การประกาศใช้ภาษีสิ่งแวดล้อม Green Tax) แต่ก็เป็นปัญหาทางการเมืองด้วย ถ้ามีการใช้มาตรการเข้มงวดเกินไป ก็อาจไม่เป็นที่ยอมรับทางด้านการเมือง ประชาชนอาจวิพากษ์วิจารณ์ วงการธุรกิจอาจต่อต้านและตอบโต้ (ด้วยการลดต้นทุนทางด้านการจ้างงาน หรือเพิ่มราคาสินค้าให้ประชาชนเดือดร้อน) ในระบบประชาธิปไตย นักการเมืองผู้วางนโยบายสิ่งแวดล้อมมักไม่ค่อยนิยมมาตรการที่เข้มงวด เพราะพวกเขาจะถูกโจมตีอย่างหนัก
           โดยที่ยังไม่มีใครมองเห็นว่ามาตรการและแนวนโยบายสิ่งแวดล้อมจะก่อให้เกิดผลมากน้อยแค่ไหน เป็นที่คาดกันว่าในศตวรรษที่ 21 กลุ่มพลังสีเขียวในประเทศที่กำลังพัฒนาจะมีจำนวนมากขึ้น และมีการเคลื่อนไหวในขอบเขตที่กว้างขวางขึ้น และเรียกร้องให้แก้ปัญหาแบบถอนรากถอนโคน ทั้งนี้เป็นเพราะว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมจะรุนแรงขึ้นโดยที่รัฐบาลค่อนข้างจะตอบสนองล่าช้า ทั้งนี้เป็นเพราะว่ารัฐบาล อาจจะมีแนวโน้มที่จะไม่ใช้มาตรการเข้มงวดมากนัก เพราะเป็นห่วงธุรกิจเอกชนและกลัวว่าเศรษฐกิจของชาติจะถูกกระทบกระเทือนเกินไป
นวัตกรรมทางสิ่งแวดล้อม
           ในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมที่ร่ำรวยคาดกันว่าไม่เป็นการยากนักที่จะแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในศตวรรษที่ 21 เพราะประเทศเหล่านี้ จะแข่งขันกันมากขึ้นทางด้านการปรับปรุงคุณภาพของสินค้า ซึ่งจะต้องมีการแสวงหานวัตกรรม (Innovation) กันอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "นวัตกรรมทางด้านสิ่งแวดล้อม" (Environmental Innovation) จะเป็นเครื่องมือ ที่สำคัญมากในการกระตุ้น ให้การพัฒนาเศรษฐกิจของโลกอุตสาหกรรมก้าวหน้าไป ในขณะนี้ประเทศร่ำรวยก็มีศักยภาพค่อนข้างสูงอยู่แล้วทางด้านการพัฒนาเทคนิคใหม่ๆ ในกระบวนการผลิตที่คำนึงถึงคุณภาพของสิ่งแวดล้อม
           นักวิเคราะห์ทางด้านนวัตกรรมมองว่าความสามารถของอุตสาหกรรมในการตอบสนองต่อการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเครื่องชี้ที่สำคัญว่าอุตสาหกรรมนั้นๆ จะมีความสามารถในการแข่งขันระดับโลกได้หรือไม่ ถ้าใครต้องการประสบความสำเร็จ เขาจะต้องนำเอาแนวคิดหลักที่สำคัญ มาผสมผสานกันในระบบการผลิต นั่นคือต้องมีการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม แก้ไขปัญหามลพิษ เพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและพลังงาน โดยเอาหลักการ "นวัตกรรม" มาเชื่อมโยงกับ "การแข่งขัน" การวางมาตรฐานเข้มงวดทางสิ่งแวดล้อม ยิ่งจะช่วยให้มีการค้นคิดวิธีการผลิตที่เป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ในปัจจุบันทางฝ่ายรัฐบาลของโลกอุตสาหกรรม อย่างเช่น สวีเดน ก็เห็นด้วยกับ "แนวทางนวัตกรรมทางสิ่งแวดล้อม" ในรายงานภาวะสิ่งแวดล้อมของประเทศฉบับล่าสุด มีการสรุปว่า"นโยบายสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลสวีเดน มีความสำคัญมากในการเสริมสร้างให้เกิดความทันสมัยขึ้นแก่ภาคธุรกิจอุตสาหกรรม
             การปรับปรุงสิ่งแวดล้อมได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นให้มีการแข่งขันกันใน ภาค อุตสาหกรรมนี้" ทั้งหมดนี้เป็นแนวคิดใหม่ของโลกตะวันตกที่เน้นเรื่อง "การทำให้เกิดความทันสมัยทางด้านนิเวศ" (Ecological Modernization) ซึ่งเน้นการค้นคิดเทคโนโลยีทางสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ และนำมาใช้ในทุกขั้นตอนของกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรม แต่การจะทำเช่นนี้ได้จะต้องมีการปรับโครงสร้างการผลิตใหม่หมด ซึ่งจะต้องมี "การวางแผนทางสิ่งแวดล้อม" ระดับชาติอย่างเป็นระบบ รวมไปถึงการปรับเปลี่ยนโลกทัศน์และจิตสำนึกทางสิ่งแวดล้อมของผู้คนในทุกวงการ แนวคิด "นวัตกรรมทางสิ่งแวดล้อม" ไม่ได้เน้นเรื่องเทคโนโลยีอย่างเดียว หากแต่ให้ความสำคัญสูงสุดแก้ "การจัดการทางสิ่งแวดล้อม" (Environmental Management) ด้วย ซึ่งจะต้องทำกันทั้งในภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชน ดังจะเห็นได้จากความสำเร็จในกลุ่มประเทศสวีเดน เดนมาร์ก ฮอลแลนด์ และเยอรมนี ซึ่งถือได้ว่ากำลังเป็นผู้นำในด้าน "นวัตกรรมทางสิ่งแวดล้อม"

เอกสารอ้างอิง
1. The Economist, A Special Report : Reflections on the 20th Century Liberty, Equality, Humility,(September 11-17th 1999)
2. B.BRUEL, Agenda 21-Vision : Nachhaltige Entwicklung (ภาษาเยอรมัน เพื่อต้อนรับงานมหกรรมโลก EXPO 2000 ที่เมืองฮันโนเฟอร์, เป็นการวิเคราะห์แนวโน้มสิ่งแวดล้อมโลกในศตวรรษที่ 21, รวมบทความของผู้เชี่ยวชาญเยอรมันเกี่ยวกับ"การพัฒนาที่ยั่งยืนในอนาคต" พิมพ์โดย CAMPUS, Frankfurt 1999)
3. U.BECK, Schone Neue Arbeitswelt (ภาษาเยอรมันเพื่อต้อนรับงาน EXPO 2000 เช่นกัน เป็นการวิเคราะห์แนวโน้มของโลกการทำงานในศตวรรษที่ 21 ซึ่งจะเกี่ยวพันกับปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างแยกจากกันไม่ได้ พิมพ์โดย CAMPUS, Frankfurt 1999)
ค้นคว้ามาจาก บทความของ มูลนิธิสวัสดี เนื่องจากเป็นบทความที่ดีและตรงกับที่กำลังศึกษาอยู่ เป็นบทความที่มีประโยชน์มากครับ และต้องขอขอบพระคุณ บทความนี้จากมูลนิธิสวัสดี อีกครั้งครับ


วันพฤหัสบดีที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2555

Part 5 ความหมาย และ แนวการจัดความรู้ นโยบายสาธารณะ

Part : 5 : การกำหนด และ การวิเคราะห์นโยบายสาธารณะ  PA704 
สอนโดย รศ. พิพัฒน์  ไทยอารี





          จากข้อมูลข้างต้น เป็นการสรุปเนื้อหาจากหนังสือ การเรียนการสอน ของอาจารย์ และเป็นการสรุป เพื่อใช้เป็นสื่อในการท่องจำนะครับ หวังว่าคงได้ประโยชน์จากเอกสารนี้นะครับ

วันอาทิตย์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2555

ไขมันในเลือด สำคัญฉะไหน


ไขมันในเลือด สำคัญฉะไหน?
        ไขมันในเลือดสูง เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญอย่างหนึ่งที่ก่อให้เกิด หลอดเลือดตีบ และอาจเป็นอันตรายต่อชีวิต การเลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสมเป็นวิธีหนึ่งที่มีส่วนช่วยในการควบคุมระดับไขมันในเลือดให้อยู่เกณฑ์ปกติได้
        โคเลสเตอรอลสูง เป็นคำที่คนทั่วไปใช้เรียก ไขมันในเลือดสูง แท้จริงแล้ว โคเลสเตอรอล เป็นไขมันในเลือดชนิดหนึ่งที่พบในสัตว์ และ มนุษย์ มีหน้าที่ต่างๆ ในร่างกาย เช่น เป็นส่วนประกอบของผนังเซลล์ต่างๆ เป็นส่วนประกอบของ ฮอร์โมนที่สำคัญบางชนิด นอกจานี้ยังใช้ในการสร้างวิตามินดี และ น้ำดี สำหรับย่อยไขมันในอาหาร
        จากประโยชน์เหล่านี้ของโคเลสเตอรอล ร่างกายจึงสามารถสังเคราะห์โคเลสเตอรอลได้เองที่ตับ นอกจากส่วนที่ได้รับจากอาหาร ดังนั้นหากรับประทานอาหารที่มี โคเลสเตอรอลสูงร่วมด้วย อาจเป็นสาเหตุให้เกิดไขมันในเลือดสูง จนอาจเกิดอันตรายแก่ร่างกายได้
อาหารที่มี โคเลสเตอรอลสูง  
        เครื่องในสัตว์ทุกชนิด เช่น ตับ ไต สมอง หนังเป็ด หนังไก่ ไข่แดง ไข่ปลา ปลาหมึก หอยนางรม อาหารที่มีไขมันสูง โดยเฉพาะไขมันจากสัตว์ เช่น เนื้อติดมัน หมู 3 ชั้น ขาหมู เป็นต้น
        ในขณะที่อาหารบางอย่างไม่มีโคเลสเตอรอล เนื่องจาก โคเลสเตอรอล พบได้เฉพาะในสัตว์ และมนุษย์เท่านั้น ดังนั้น จะไม่พบโคเลสเอตรอลในพืชทุกชนิด แต่ อาหารเหล่านั้นกลับมีไขมันอิ่มตัว ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาไขมันในเลือดสูงได้เช่นกัน
        อาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง ได้แก่ ไขมันสัตว์ หนังสัตว์ กะทิ นม และผลิตภัณฑ์จากนมไขมันเต็ม และยังพบมากในน้ำมันพืชบางชนิด เช่น น้ำมันมะพร้าว และน้ำมันปาล์ม อีกด้วย
        นอกจากนี้ ไตรกลีเซอไรด์ ก็เป็นไขมันในเลือดอีกชนิดหนึ่ง ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยร่างกายสร้างไตรกลีเซอไรด์ ขึ้นมาจากพลังงานส่วนเกิดจากอาหารที่รับประทานเข้าไป โดยเฉพาะจากอาหารประเภท ไขมัน อาหารที่ให้พลังงานสูง เครื่องดื่มแอลกอโอล์ รวมถึงอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต เช่น น้ำตาล น้ำหวาน น้ำอัดลม ขนมหวาน และ ผลไม้รสหวานจัด
หลักการควบคุมอาหาร
        เพื่อลด หรือ ควบคุมระดับไขมันในเลือด ทำได้ง่ายๆ เพียงหลีกเลี่ยงอาหารที่มีโคเรสเตอรอลสูง อาหารที่ไขมันสูง และควบคุมอาหารที่ทำให้ไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง หมั่นรับประทานผัก และอาหารที่มีใยอาหารสูง นอกจากนี้ควรเลือกใช้น้ำมันที่มีกรดไขมันที่ดี เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วลิสง หรือ น้ำมันมะกอก
        ที่สำคัญต้องควบคุมปริมาณที่ใช้ไม่ให้มากจนเกินไปด้วย แต่ในชีวิตอันเร่งรีบ ยุคปัจจุบันที่คนส่วนใหญ่มักฝากท้องไว้กับร้านอาหาร คงยากที่จะเลือกไขมันที่ดีที่นำเข้าสู่ร่างกายได้ เนื่องจากน้ำมันส่วนใหญ่ที่ใช้มักเป็นน้ำมันปาล์ม หรือน้ำมันหมู (ซึ่งอาจทำให้รสชาติที่ดีกว่า แต่เสียสุขภาพ มากกว่ากัน) เมนูอาหารเพื่อลดไขมันเมนูนี้ ทำง่าย อร่อย และดีต่อสุขภาพแน่นอนค่ะ
อาหารแนะนำ  “ สลัดสยาม “
ส่วนผสม          1.  กุ้งสดหั่นเต๋าลวกสุก               ½     ถ้วย
                       2.  ถั่วพูสดหั่นฝอย                    2     ช้อนโต๊ะ
                       3.  ฝักหวานเด็ดขนาดพอคำ         ½     ถ้วย
                       4.  มะเขือเทศราชินี                    10    ลูก
                       5.  น้ำพริกเผาชนิดเผ็ด               1     ช้อนโต๊ะ
                       6.  น้ำปลา                               1     ช้อนโต๊ะ
                       7.  น้ำมะนาว                            1     ช้อนโต๊ะ
                       8.  หอมแดงซอย                       1     ช้อนโต๊ะ
                       9.  งานขาวคั่ว                          1     ช้อนโต๊ะ
วิธีทำ
        ผสมน้ำพริกเผา น้ำปลา น้ำมะนาว เข้าด้วยกัน  ชิมให้ได้รสเผ็ด เปรี้ยว เค็ม หวานเล็กน้อย นำผักที่หั่นเตรียมไว้ และกุ้งลวก คลุกผสมในน้ำสลัด โรยหอมแดงซอย และงาขาว พร้อมตักเสิร์ฟ
Tips
        การเลือกน้ำพริกเผา ที่มีคุณภาพดี เป็นส่วนผสมเป็นหัวใจหลักของเมนูนี้ หากต้องการหลีกเลี่ยงไขมันสามารถใช้พริกขี้หนูสด หรือ พริกแห้งคั่วป่นแทนได้ สามารถเลือกผักอื่นๆ ที่ชอบมาแทนได้ เช่น ผักกาดหอม ผักสลัดน้ำ เป็นต้น

ที่มา: ต้องขออนุญาต และ ขอขอบพระคุณบทความใน ดูแลสุขภาพ จากหนังสือพิมพ์คมชัดลึก ฉบับวันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม 2554 เป็นอย่างสูง เพราะบทความนี้เป็นบทความที่ดี มีประโยชน์ต่อสุขภาพของทุกคน ดังนั้น การหยิบยกมาเผยแพร่มิได้ทำเพื่อส่วนตัว แต่ ต้องการนำบทความดีๆ เสนอต่อ กับผู้ที่สนใจ หรือเปิดอ่าน จาก Blog นี้เท่านั้นนะครับ ขอขอบพระคุณอีกครั้งนะครับ

วันอังคารที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2555

แนวตัวอย่าง PA702 ระเบียบวิธีวิจัย รศ.เฉลิมพล ศรีหงษ์

ตารางวิเคราะห์ วิจัยเชิงปริมาณ

      แนวตัวอย่างนี้ เป็นแนวตัวอย่างในหนังสือของอาจารย์ เลยนะครับ เพียงแต่นำออกมาเขียนโดยการแยกเป็นประเด็น ให้ดูง่าย และเข้าใจยิ่งขึ้น (ถ้าตั้งใจที่จะศึกษาดู ไม่ยากนะครับ เพียงแต่ทุกอย่างต้องตั้งใจ และทำความเข้าใจให้มาก เท่านั้นเองครับ) แนวนี้ รปม. รุ่น6 สอบแล้วนะครับ เมื่อ 31 มีนาคม 55  (พวกเราชาว รปม.6 ลพบุรี ขอขอบพระคุณ  รศ. เฉลิมพล ศรีหงษ์ ที่ได้มอบความรู้ให้กับนักศึกษา ได้อย่างเข้าใจและสามารถนำไปใช้ได้เป็นอย่างดีครับ....ทุกคนขอกล่าวคำว่า..ขอขอบพระคุณมากครับ)








อาจารย์...ออกข้อสอบไม่ยากครับ....เพียงแต่ทุกคนที่เสียเงินไปเรียนแล้ว ต้องตั้งใจฟังที่อาจารย์สอน แล้วทุกคนก็จะสอบได้....และสอบได้คะแนนดีด้วยครับ....(อาจารย์ สอนดีมาก ครับ)  
เรียนไม่ต้องแข่งเกรดกันนะครับ ขอให้ เรียนแล้วช่วยเหลือกัน...
ดังคำที่ว่า....
ลงเรือลำเดียวกันแล้วเราทุกคนต้องช่วยเหลือกันนำลำเรือ และ ลูกเรือทุกๆ คนให้ถึงฝั่ง.....

ขอให้เพื่อน MPA ลูกพ่อขุน ทุกท่านโชคดีนะครับ