วันอาทิตย์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2555

สิ่งแวดล้อมในสหัสวรรษหน้า : กระแสไทย กระแสโลก


สิ่งแวดล้อมในสหัสวรรษหน้า : กระแสไทย กระแสโลก

           ในการวิเคราะห์แนวโน้มของโลกในศตวรรษที่ 20 ที่กำลังจะสิ้นสุดลง นิตยสาร The Economist ชื่อดังของอังกฤษ ได้ข้อสรุปว่า สิ่งแวดล้อมโลกที่ผ่านมา 100 ปี ไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิดกันเลย ตรงกันข้ามภาวะแวดล้อมของโลกอยู่ในสภาพที่ดีมาตลอดจนถึงปัจจุบัน และก็คงดำรงอยู่เช่นนี้ต่อไปในศตวรรษหน้า แม้ว่าประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา แต่ก็ไม่ได้สร้างปัญหามากมายนัก เพราะการผลิตทางเศรษฐกิจของโลกก็ขยายตัวมากเช่นเดียวกัน การที่สิ่งแวดล้อมโลกไม่พบกับความหายนะ (ตามที่หลายฝ่ายพยากรณ์ไว้เป็นเพราะว่าหลายสิ่งหลายอย่างได้เปลี่ยนไป : มีการเปลี่ยนแปลงด้านราคาของทรัพยากร มีการเปลี่ยนแปลงทางสังคม มีการพัฒนาประชาธิปไตย มีการวางนโยบายสิ่งแวดล้อมเพื่อตอบสนองแรงกดดันจากประชาชน)
         จะเห็นได้ว่าเมื่อมีผู้คนมากขึ้น บริโภคมากขึ้น ผลิตมากขึ้น ก็มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้น แต่เมื่อเกิดภาวะขาดแคลนราคาก็จะเริ่มสูงขึ้น ผลักดันให้มีการประหยัดในการใช้ กระตุ้นให้มีการแสวงหาทรัพยากรแหล่งใหม่ๆ ประเภทใหม่ๆ เทคโนโลยีใหม่ๆ เปิดหนทางใหม่ๆ ให้มนุษยชาติเสมอ กลไกราคามีประสิทธิภาพพอสมควรในการแก้ไขปัญหาทรัพยากรธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม เราต้องยอมรับว่า บางครั้งบางกรณี กลไกตลาดไม่อาจแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อย่างน่าพอใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีบางสิ่งบางอย่างในธรรมชาติที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ในกรณีนี้ก็มีแนวโน้มว่าจะมีการใช้ทรัพยากรอย่างล้างผลาญ ไม่มีใครสนใจที่จะอนุรักษ์ ตัวอย่างเช่น ทรัพยากรในทะเลและมหาสมุทร ซึ่งจะถูกคุมคามต่อไปในศตวรรษหน้า
           นอกจากนั้นในบางเรื่อง ความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมไม่ได้ปรากฏออกมาให้เราเห็นใน "ราคา" เช่น มีการปล่อยมลพิษออกมาสู่อากาศและน้ำ สร้างความเสียหายให้แก่ระบบนิเวศและชุมชนอย่างใหญ่หลวง แต่ราคาสินค้าไม่ได้สะท้อนให้เห็นความเสียหายเหล่านี้เลย ทั้งนี้เป็นเพราะภาคธุรกิจเอกชนต้องการลดต้นทุนให้ต่ำและต้องการแสวงหากำไรสูงสุดต่อไป โดยปล่อยให้ชุมชน สังคม และธรรมชาติต้องพบกับความหายนะจากมลพิษ ดังที่เรากำลังพบเห็นในประเทศที่กำลังพัฒนาทั่วโลก
          The Economist ชี้ว่า ในประเทศอุตสาหกรรมที่ก้าวหน้า มลพิษไม่ค่อยจะเป็นปัญหาใหญ่มากนัก เพราะที่นั่นมีระบอบประชาธิปไตยที่พัฒนาแล้ว มีการตรวจสอบ มีการกดดันจากประชาชนตลอดเวลา และรัฐบาลประชาธิปไตยก็ต้องตอบสนองความต้องการของประชาชน โดยมีความสำนึกว่าต้องทำบางสิ่งบางอย่าง และก็มีการทำสิ่งเหล่านั้นไปแล้ว
          ดังจะเห็นได้ว่ามลพิษทางอากาศในสังคมอุตสาหกรรมที่มีความรุนแรงมานานถึง 300 ปี ได้รับการแก้ไขอย่างน่าพอใจมีสิ่งเดียวที่ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ คือ รัฐบาลไม่สามารถควบคุมมลพิษจากรถยนต์ได้ และก็คงเป็นเช่นนี้ต่อไปอีกนาน ในประเทศที่กำลังพัฒนา ปัญหานี้ก็คงจะยืดเยื้อต่อไปอีกนานในศตวรรษหน้านี้
นิเวศวิกฤตในโลกที่กำลังพัฒนา
           ในการวิเคราะห์ของ The Economist อาจมีการมองปัญหาสิ่งแวดล้อมในแง่ดีเกินไป และมองเพียงด้านเดียว อย่างเช่น เรื่องมลพิษทางอุตสาหกรรม มีการสรุปว่าแต่ละปีการปล่อยมลพิษออกสู่อากาศ ประเภทต่างๆ มีปริมาณลดน้อยลงเป็นลำดับ แต่ไม่มีการมองว่า สารพิษหรือมลพิษที่ตกค้างและสะสมในสิ่งแวดล้อมเป็นระยะยาวในโลกอุตสาหกรรมได้เพิ่มขึ้นตลอดเวลา ซึ่งแนวโน้มนี้จะยังคงมีอยู่ต่อไป ในศตวรรษหน้า เพราะจนถึงบัดนี้ รัฐบาลในประเทศอุตสาหกรรม อย่างเช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเยอรมนียังไม่ประสบผลสำเร็จ ในการแก้ไขปัญหามลพิษที่สะสมในระยะยาวแต่อย่างใดเลย (จากข้อสรุปของนักนิเวศวิทยาการเมืองในเยอรมนี) 
           ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าแนวนโยบายสิ่งแวดล้อมกระแสหลักเน้นแต่การแก้ไขปัญหาที่มองเห็นได้รู้สึกได้ และมุ่งจุดหนักไปทางด้านมลพิษระยะสั้นที่มีผลอย่างฉับพลันต่อสุขภาพของประชาชน มลพิษที่ตกค้างสะสมระยะยาวเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยจะมองเห็นได้ง่าย จึงถูกละเลยไป นอกจากนั้นในการวิเคราะห์ปัญหาประชากรของโลก บางทีมีการมองข้ามข้อเท็จจริงที่สำคัญข้อหนึ่งไป นั่นคือ  แม้ว่าอัตราการขยายตัวจะมีไม่มากเหมือนแต่ก่อน แต่ในช่วงเปลี่ยนศตวรรษนี้ประชากรโลกจะเพิ่มปีละประมาณ 80 ล้านคน  (เท่ากับประชากรของเยอรมนีทั้งประเทศ) นั่นหมายความว่า ท่ามกลางความยากจนและความเสื่อมโทรมทางสิ่งแวดล้อม ในชนบท ปริมาณประชากรขนาดนี้จะยิ่งทำให้ภาวะวิกฤตทางสิ่งแวดล้อมมีความรุนแรงขึ้น ซึ่งจะกระเทือนไปถึงระบบการผลิตอาหาร และ วิถีการดำรงชีวิตของผู้คนในประเทศที่กำลังพัฒนา
           การเพิ่มประชากรอย่างมากๆ เช่นนี้ จะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเมืองและการครองชีพในเขตเมืองด้วย ในขณะนี้ทั่วโลกมีประชากร 2.6 พันล้านคนอาศัยอยู่ในเมืองต่างๆ ในจำนวนนี้ 1.7 พันล้านคน อยู่ในเมืองของประเทศที่กำลังพัฒนา จนถึงปี ค.ศ.2015 คาดว่าสัดส่วน จะเพิ่มอย่างรวดเร็วขึ้น 3 ใน 4 ของประชากรเมืองของโลกจะอยู่ในประเทศที่กำลังพัฒนาที่มีความแออัดสูง และมีปัญหารุนแรงทางด้านสุขอนามัย เมื่อเรานำ "สูตรสิ่งแวดล้อม" ที่ลือชื่อของนักนิเวศวิทยา Anne และ Paul Ehrlich มาเป็นพื้นฐานในการมองปัญหา เราจะได้ข้อสรุปว่า ในอนาคตวิกฤตการณ์ทางสิ่งแวดล้อมของโลกมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นอย่างแน่นอน สูตรนี้บ่งว่า
           วิกฤตสิ่งแวดล้อม (I) ถูกกำหนดโดยจำนวนประชากร (P), ความเจริญทางเศรษฐกิจ (A) และเทคโนโลยีการผลิต (T) คือ I = P x A x T 
           นอกจากจำนวนประชากรแล้ว ความเจริญทางเศรษฐกิจยังเป็นตัวแปรสำคัญ ยิ่งพัฒนามากก็ยิ่งผลิตมาก บริโภคมากและใช้ทรัพยากรธรรมชาติมาก สร้างความตึงเครียดให้แก่ระบบนิเวศ นอกจากนี้แล้วการผลิต 1 หน่วยอาจสร้างมลพิษในปริมาณที่มาก เพราะมีการใช้เทคโนโลยีที่ไม่ค่อยสะอาด เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ในยุคโลกาภิวัตน์ที่มีการใช้ปรัชญาตลาดเสรีอย่างแพร่หลายทั่วโลกในช่วงเปลี่ยนศตวรรษนี้ เป็นที่วิตกว่า การค้าการผลิตและการบริโภคจะเร่งให้มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างเผาผลาญ และมีการทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างหนักหน่วงมากขึ้น

ประชาธิปไตยและสิ่งแวดล้อม
¬ สำหรับอนาคตของโลกที่กำลังพัฒนา เราพอจะสรุปบทเรียนที่สำคัญๆ ได้ว่ามลพิษที่ร้างแรงที่สุดมักจะเกิดขึ้นในกลุ่มประเทศที่ยากจน ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาพื้นฐานบางอย่าง นั่นคือ ในประเทศเหล่านั้นไม่ค่อยจะมีการพัฒนาประชาธิปไตย ดังนั้นประชาชนจึงไม่มีสิทธิมีเสียง ไม่อาจเข้าถึงข้อมูล ข่าวสารเกี่ยวกับ สิ่งแวดล้อม ไม่อาจเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาล ไม่อาจคัดค้านต่อธุรกิจที่ก่อมลพิษ ความขาดแคลนประชาธิปไตย จึงเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ทางสิ่งแวดล้อม
¬ การมีมลพิษที่รุนแรงขึ้น ไม่ได้เกิดจากเพราะว่ามีการพัฒนาเศรษฐกิจมากเกินไป แต่เป็นเพราะว่าในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนา รัฐบาลและภาคธุรกิจเอกชนเน้นแต่เรื่องการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (เพื่อเพิ่มรายได้ประชาชาติและการส่งออก) แต่เมื่อการพัฒนา ดำเนินมาระยะหนึ่ง ผู้คนหลายวงการเริ่มมีการพัฒนาจิตสำนึก "สีเขียว" และมีการเรียกร้องให้คำนึงถึงหลักการ "การพัฒนาแบบยั่งยืน" มากขึ้น ในระยะนี้รัฐบาลจึงต้องตอบสนองในการริเริ่มวางนโยบายสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายว่าการพัฒนาเศรษฐกิจต้องเกิดขึ้น พร้อมกับการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม แต่ทั้งนี้ต้องมี "ประชาธิปไตยทางสิ่งแวดล้อม" เป็นพื้นฐานรองรับที่สำคัญ
¬ เมื่อมองจากประสบการณ์ 100 ปี ของโลกตะวันตก เราอาจมองไปข้างหน้าได้ว่า ในศตวรรษที่ 21 ประเทศที่กำลังพัฒนา ก็คงจะแสวงหาหนทางแก้ไขวิกฤตการณ์ทางสิ่งแวดล้อมของตนเองได้ แต่ประเทศเหล่านั้นจะประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ อย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง :
è จะต้องมีข้อมูลข่าวสารที่ค่อนข้างสมบูรณ์เพื่อเปรียบเทียบต้นทุนของการควบคุมทางสิ่งแวดล้อมกับประโยชน์ที่สังคม  ได้จากการควบคุมนี้
è มีมาตรการที่มีประสิทธิภาพซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างมาตรการทางตลาดและราคากับมาตรการทางด้านการวาง มาตรฐานสิ่งแวดล้อม
           ในที่สุดแล้ว การแก้ไขวิกฤตการณ์ทางสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เป็นปัญหาเศรษฐกิจอย่างเดียว (เช่น การประกาศใช้ภาษีสิ่งแวดล้อม Green Tax) แต่ก็เป็นปัญหาทางการเมืองด้วย ถ้ามีการใช้มาตรการเข้มงวดเกินไป ก็อาจไม่เป็นที่ยอมรับทางด้านการเมือง ประชาชนอาจวิพากษ์วิจารณ์ วงการธุรกิจอาจต่อต้านและตอบโต้ (ด้วยการลดต้นทุนทางด้านการจ้างงาน หรือเพิ่มราคาสินค้าให้ประชาชนเดือดร้อน) ในระบบประชาธิปไตย นักการเมืองผู้วางนโยบายสิ่งแวดล้อมมักไม่ค่อยนิยมมาตรการที่เข้มงวด เพราะพวกเขาจะถูกโจมตีอย่างหนัก
           โดยที่ยังไม่มีใครมองเห็นว่ามาตรการและแนวนโยบายสิ่งแวดล้อมจะก่อให้เกิดผลมากน้อยแค่ไหน เป็นที่คาดกันว่าในศตวรรษที่ 21 กลุ่มพลังสีเขียวในประเทศที่กำลังพัฒนาจะมีจำนวนมากขึ้น และมีการเคลื่อนไหวในขอบเขตที่กว้างขวางขึ้น และเรียกร้องให้แก้ปัญหาแบบถอนรากถอนโคน ทั้งนี้เป็นเพราะว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมจะรุนแรงขึ้นโดยที่รัฐบาลค่อนข้างจะตอบสนองล่าช้า ทั้งนี้เป็นเพราะว่ารัฐบาล อาจจะมีแนวโน้มที่จะไม่ใช้มาตรการเข้มงวดมากนัก เพราะเป็นห่วงธุรกิจเอกชนและกลัวว่าเศรษฐกิจของชาติจะถูกกระทบกระเทือนเกินไป
นวัตกรรมทางสิ่งแวดล้อม
           ในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมที่ร่ำรวยคาดกันว่าไม่เป็นการยากนักที่จะแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในศตวรรษที่ 21 เพราะประเทศเหล่านี้ จะแข่งขันกันมากขึ้นทางด้านการปรับปรุงคุณภาพของสินค้า ซึ่งจะต้องมีการแสวงหานวัตกรรม (Innovation) กันอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "นวัตกรรมทางด้านสิ่งแวดล้อม" (Environmental Innovation) จะเป็นเครื่องมือ ที่สำคัญมากในการกระตุ้น ให้การพัฒนาเศรษฐกิจของโลกอุตสาหกรรมก้าวหน้าไป ในขณะนี้ประเทศร่ำรวยก็มีศักยภาพค่อนข้างสูงอยู่แล้วทางด้านการพัฒนาเทคนิคใหม่ๆ ในกระบวนการผลิตที่คำนึงถึงคุณภาพของสิ่งแวดล้อม
           นักวิเคราะห์ทางด้านนวัตกรรมมองว่าความสามารถของอุตสาหกรรมในการตอบสนองต่อการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเครื่องชี้ที่สำคัญว่าอุตสาหกรรมนั้นๆ จะมีความสามารถในการแข่งขันระดับโลกได้หรือไม่ ถ้าใครต้องการประสบความสำเร็จ เขาจะต้องนำเอาแนวคิดหลักที่สำคัญ มาผสมผสานกันในระบบการผลิต นั่นคือต้องมีการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม แก้ไขปัญหามลพิษ เพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและพลังงาน โดยเอาหลักการ "นวัตกรรม" มาเชื่อมโยงกับ "การแข่งขัน" การวางมาตรฐานเข้มงวดทางสิ่งแวดล้อม ยิ่งจะช่วยให้มีการค้นคิดวิธีการผลิตที่เป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ในปัจจุบันทางฝ่ายรัฐบาลของโลกอุตสาหกรรม อย่างเช่น สวีเดน ก็เห็นด้วยกับ "แนวทางนวัตกรรมทางสิ่งแวดล้อม" ในรายงานภาวะสิ่งแวดล้อมของประเทศฉบับล่าสุด มีการสรุปว่า"นโยบายสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลสวีเดน มีความสำคัญมากในการเสริมสร้างให้เกิดความทันสมัยขึ้นแก่ภาคธุรกิจอุตสาหกรรม
             การปรับปรุงสิ่งแวดล้อมได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นให้มีการแข่งขันกันใน ภาค อุตสาหกรรมนี้" ทั้งหมดนี้เป็นแนวคิดใหม่ของโลกตะวันตกที่เน้นเรื่อง "การทำให้เกิดความทันสมัยทางด้านนิเวศ" (Ecological Modernization) ซึ่งเน้นการค้นคิดเทคโนโลยีทางสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ และนำมาใช้ในทุกขั้นตอนของกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรม แต่การจะทำเช่นนี้ได้จะต้องมีการปรับโครงสร้างการผลิตใหม่หมด ซึ่งจะต้องมี "การวางแผนทางสิ่งแวดล้อม" ระดับชาติอย่างเป็นระบบ รวมไปถึงการปรับเปลี่ยนโลกทัศน์และจิตสำนึกทางสิ่งแวดล้อมของผู้คนในทุกวงการ แนวคิด "นวัตกรรมทางสิ่งแวดล้อม" ไม่ได้เน้นเรื่องเทคโนโลยีอย่างเดียว หากแต่ให้ความสำคัญสูงสุดแก้ "การจัดการทางสิ่งแวดล้อม" (Environmental Management) ด้วย ซึ่งจะต้องทำกันทั้งในภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชน ดังจะเห็นได้จากความสำเร็จในกลุ่มประเทศสวีเดน เดนมาร์ก ฮอลแลนด์ และเยอรมนี ซึ่งถือได้ว่ากำลังเป็นผู้นำในด้าน "นวัตกรรมทางสิ่งแวดล้อม"

เอกสารอ้างอิง
1. The Economist, A Special Report : Reflections on the 20th Century Liberty, Equality, Humility,(September 11-17th 1999)
2. B.BRUEL, Agenda 21-Vision : Nachhaltige Entwicklung (ภาษาเยอรมัน เพื่อต้อนรับงานมหกรรมโลก EXPO 2000 ที่เมืองฮันโนเฟอร์, เป็นการวิเคราะห์แนวโน้มสิ่งแวดล้อมโลกในศตวรรษที่ 21, รวมบทความของผู้เชี่ยวชาญเยอรมันเกี่ยวกับ"การพัฒนาที่ยั่งยืนในอนาคต" พิมพ์โดย CAMPUS, Frankfurt 1999)
3. U.BECK, Schone Neue Arbeitswelt (ภาษาเยอรมันเพื่อต้อนรับงาน EXPO 2000 เช่นกัน เป็นการวิเคราะห์แนวโน้มของโลกการทำงานในศตวรรษที่ 21 ซึ่งจะเกี่ยวพันกับปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างแยกจากกันไม่ได้ พิมพ์โดย CAMPUS, Frankfurt 1999)
ค้นคว้ามาจาก บทความของ มูลนิธิสวัสดี เนื่องจากเป็นบทความที่ดีและตรงกับที่กำลังศึกษาอยู่ เป็นบทความที่มีประโยชน์มากครับ และต้องขอขอบพระคุณ บทความนี้จากมูลนิธิสวัสดี อีกครั้งครับ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น