วันพฤหัสบดีที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ล้มทั้งยืน...ดีกว่าล้มไม่เป็น



ล้มทั้งยืน...ดีกว่าล้มไม่เป็น


          "อย่าคิดว่าสูญเสียแล้วชีวิตจะต้องเป็นศูนย์ เรานับหนึ่งใหม่ได้เสมอหากเราคิดจะนับซะอย่าง"

          ถ้าสิ่งที่เราคาดหวัง...ไม่เป็นดั่งหวังถ้าสิ่งที่เราพยายามทุ่มเททำสุดแรง กายแรงใจไม่ประสบผลสำเร็จ ถ้าสิ่งที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าจะเกิดขึ้นมันก็เกิดขึ้นและได้สร้างความบอบ ช้ำจนทำให้เราต้องจมอยู่กับความทุกข์

          เรา กำลังก้าวสู่ "ชีวิตที่เป็นจริง" แล้วหล่ะ เพราะความเป็นจริงของชีวิต จะสอนให้เรารู้จักยอมรับความพ่ายแพ้สอนให้เรารู้จักสูญเสียน้ำตา เพื่อที่จะได้รอยยิ้มคืน กลับมาเป็นรางวัลตอบแทนแต่มันก็ไม่เคยทำให้ใครหมดสิ้นความหวัง หมดสิ้นพลังและกำลังใจไปกับความพ่ายแพ้ เพียงแค่ความเป็นจริงสอนให้พวกเราทุกคนรู้ว่า


........อย่าเพียรสร้างความหวัง แต่ให้เชื่อมั่นใความหวัง........

        เพราะความเชื่อมั่นจะนำพาเราไปพบกับ "หนทางสู่ความสำเร็จ"  


          แม้ว่าจะต้องฝ่าฟันอะไรอีกมากมายกว่าจะถึงวันนั้น
          แม้ว่าจะต้องล้มลงอีกสักกี่ครั้ง
          แม้ว่าจะต้องผิดหวังอย่างแรงอีกสักกี่หนก็ตาม







 ปล่อยให้ชีวิตผิดพลาดเสียบ้าง ปล่อยให้ความคาดหวังได้เจอกับความผิดหวัง ปล่อยให้ความฝันกลายเป็นฝันค้างลอยกลางอากาศ ปล่อยให้อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด แม้ว่าเกิดขึ้นแล้วจะเลวร้ายกับชีวิตก็ตามทีเพราะทุก ๆ อย่างที่เกิดขึ้น จะช่วยสอนและช่วยเป็นบทเรียนอันล้ำค่าให้แก่ชีวิต ที่หาที่ไหนไม่ได้อีกแล้วบนโลกใบนี้
          คุณบอย โกสิยพงศ์ เคยให้สัมภาษณ์กับนิตยสารเล่มหนึ่ง เขาพูดให้แง่คิดที่ดีเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งมันอาจจะสร้างบาดแผลให้กับใครหลาย ๆ คนมาบ่อยครั้ง คุณบอยพูดไว้ว่า...

          "ไม่มีอะไรที่อยู่กับเราตลอดชีวิต ทุกอย่างมันก็รอเวลาจากเราไปทั้งนั้น เชื่อว่าถ้าชีวิตคนเราไม่ยึดติด ไม่ต้องแขวนชีวิตไว้กับความคาดหวัง เวลาที่เราสูญเสีย หรือเวลาที่เราต้องเจอกับความล้มเหลว เราคงมีภูมิต้านทานมากพอที่จะเอาไว้ต่อสู้กับความท้อแท้ อย่าคิดว่าสูญเสียแล้วชีวิตจะต้องเป็นศูนย์ เพราะว่าเรานับหนึ่งใหม่ได้เสมอหากเราคิดที่จะนับซะอย่าง ไม่มีอะไรบนโลกที่น่ากลัว และไม่จำเป็นต้องกลัวกับความเป็นจรองของชีวิต"





 "มีพบก็ต้องมีจาก มีได้ก็ต้องมีเสีย และมีสุขก็ต้องมีทุกข์เป็นสัจธรรม"

          เมื่อไรที่เราได้รู้จักสัมผัส และได้เรียนรู้กับชีวิตทั้งสองด้าน เมื่อนั้นเราจะไม่รู้สึกเสียดายหากเราได้มีโอกาสล้มทั้งยืน แต่เราจะเสียใจไปตลอดชีวิตหากเราไม่สามารถก้าวข้ามความล้มเหลวที่ผ่านเข้ามา ได้

          มีคนเคยบอกเอาไว้ว่า...
          การตั้งความหวัง คือการเสี่ยงกับความเจ็บปวด
          การพยายาม คือการเสี่ยงกับความล้มเหลว
          แต่ยังไงก็ต้องเสี่ยง เพราะในสิ่งที่อันตรายที่สุดในชีวิต 

              ก็คือ
          การไม่เสี่ยงอะไรเลย





"ล้ม" ลงสักกี่ครั้ง ผิดหวังมาสักกี่หน ลุกขึ้นยืนให้ไกด้ แล้วสักวันเราจะเจอความสุข เพราะความสุขไม่ได้หนีจากเราไปไหนหรอก มันอยู่ใกล้เราแค่เพียงเอื้อมมือจริง ๆ ถ้าหากเราไม่ได้ไปตัดสินว่า โลกมันควรเป็นอย่างที่เราอยากให้เป็น และไม่ได้ตั้งกฎเกณฑ์ให้กับตัวเองมากจนเกินไป เวลาคิดหรือทำอะไรสักอย่างแล้วมีข้อบังคับ มีกรอบ และสร้างมโนภาพความสำเร็จไว้ล่วงหน้า เมื่ออะไร ๆ ไม่เป็นไปตามกฎของเรา เราก็ทุกข์ เราก็เสียใจ และเราก็ใจเสียเอาได้ง่าย ๆ

          มีคนเคยบอกไว้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับคุณ ไม่ใช่สิ่งที่จะกำหนดความสุขของคุณ แต่มันเป็นความคิดของคุณเองต่างหาก ความคดที่มีต่อสิ่งที่ได้เกิดขึ้นกับคุณนั่นเองจะสุขหรือจะทุกข์ก็ขึ้นอยู่ ที่เราทั้งนั้นเป็นคนกำหนด ล้มทั้งยืนเสียบ้างก็คงไม่เสียหายไร แต่ล้มไม่เป็นเลยนี่สิ...


          ลองคิดดูเล่นๆ ซิว่า 
                  จะเกิดอะไรขึ้นกับชีวิต
                          ต่อไป...................หลังจากนี้





ขอขอบคุณ บทความที่สร้างกำลังใจนี้ จาก http://hilight.kapook.com/view/51855 เป็นบทความที่ดีและมีประโยชน์มากต่อผู้อ่าน ขอขอบพระคุณครับ







วันพฤหัสบดีที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง, PA709

หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง




กระผมขอขอบพระคุณ http://www.scc.ac.th/flashshow/60th/SE/se.html เป็นอย่างสูง เพราะเป็นประโยชน์ด้านการศึกษา เป็นอย่างสูงครับ



ขอให้พระองค์ทรงพระเจริญ



วันอาทิตย์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

นวัตกรรมองค์การ PA709

ประเภท และ รูปแบบ ของนวัตกรรม
      นวัตกรรมแบ่งได้เป็น 4 ประเภท คือ
(1)      นวัตกรรมค่อยเป็นค่อยไปหรือส่วนเพิ่ม(Incremental Innovation)
        เป็นนวัตกรรมที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีหรือสิ่งเดิมที่มีอยู่แล้ว  ซึ่งอาจปรับปรุงสิ่งที่มีอยู่แล้วให้ดีขึ้น หรือปรับปรุงเทคโนโลยีหรือสิ่งที่มีอยู่เพื่อจุดมุ่งหมายหรือการใช้งานในรูปแบบอื่น เช่น ชิปประมวลผลคอมพิวเตอร์ของ Intel 
        กับดักของนวัตกรรมส่วนเพิ่ม
1)           หลีกเลี่ยงการเพิ่มเติมสิ่งที่ไม่จำเป็น อาจทำให้ลูกค้าหงุดหงิดกับสิ่งที่ไม่จำเป็น  แพงขึ้น  ใหญ่ขึ้น  ซับซ้อนขึ้น  ใช้งานยากขึ้น  เช่น PlayStation 3 ของ Sony กับ Wii ของ Nintendo
2)           อย่าลงทุนกับนวัตกรรมส่วนเพิ่มทั้งหมด ไม่ทำให้ก้าวไปสู่เทคโนโลยีใหม่ได้จึงทำให้เสียเปรียบการแข่งขัน
(2)  นวัตกรรมลำดับขั้น (Modular Innovation)
            มีความสัมพันธ์โดยตรงกับรูปลักษณ์ของสินค้า/บริการกับการเปลี่ยนแปลง  ระบบการทำงานของสินค้า/บริการเดิมที่มีอยู่  เพื่อจะได้วัสดุชิ้นส่วนใหม่กับรูปลักษณ์ของสินค้า/บริการใหม่  การเปลี่ยนรูปลักษณ์ใหม่ทั้งหมดจะเกิดขึ้นกับนวัตกรรมลำดับขั้นตลอดจนการนำวัสดุชิ้นส่วนใหม่ๆ เช่นในกรณีศึกษาเรื่องนาฬิกาในวิทยุ  และเป็นการพัฒนาสินค้าโดยเปลี่ยนวัสดุชิ้นส่วนใหม่  แต่ระบบการทำงานยังคงเดิม คือ ได้อรรถประโยชน์คงเดิม  เช่น  การพัฒนานาฬิกาในวิทยุ ที่เปลี่ยนส่วนประกอบโดยใช้แหล่งพลังงานใหม่ จากเดิม ไฟฟ้าหรือถ่านไฟฉาย เป็นการหมุนของนาฬิกา แต่ระบบการทำงานหรือโครงสร้างเดิมนั้นไม่เปลี่ยน คือ วิทยุยังคงทำงานระบบเดิม
 (3) นวัตกรรมการเปลี่ยนแปลงรูปแบบ(Architectural Innovation
 เป็นนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานของระบบ ที่ก่อให้เกิดการเชื่อมโยงในรูปแบบใหม่ๆ ในขณะที่วัสดุชิ้นส่วนและการออกแบบผลิตภัณฑ์อาจจะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรืออาจมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย  ผู้ผลิตส่วนใหญ่มักจะกระทำในแนวทางนี้ที่จะช่วยก่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่มักจะคุ้นเคยกับคำว่า Minor Change  หรือการเปลี่ยนแปลงรูปแบบเพียงบางส่วนหรือเพียงเล็กน้อย  และเป็นการพัฒนาสินค้าโดยส่วนประกอบไม่เปลี่ยน แต่ระบบการทำงานเปลี่ยน เช่น อาจมีการเปลี่ยนการนำเอาส่วนประกอบมาเชื่อมโยงกันใหม่  ยกตัวอย่างเช่น  พัฒนาโทรศัพท์มือถือ IPHONE คือเป็นโทรศัพท์มือถือแบบทัชสกรีน มาเป็น IPAD ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์รูปทรง
 (4) นวัตกรรมปฏิรูป(Radical Innovation)
            จะมีผลกระทบอย่างมากต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาด สภาพทางเศรษฐกิจของบริษัทในตลาดนั้น  และรูปแบบการดำรงชีวิตของประชากร
            ผลกระทบของนวัตกรรมประเภทนี้ เช่น การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของตลาด สร้างตลาดใหม่หรือทำให้สินค้า/บริการเดิมต้องหมดความนิยมไป บางครั้งอาจต้องใช้ระยะเวลานานพอสมควร  หลังจากได้นำสินค้า/บริการออกสู่ตลาดแล้วต้องมีคุณลักษณะดังต่อไปนี้หนึ่งข้อหรือมากกว่า
             -  ต้องเป็นคุณสมบัติการใช้งานแบบใหม่ทั้งหมด
            -  การปรับปรุงคุณสมบัติการใช้งานที่มีอยู่ ต้องทำให้ดีกว่าเดิม 5 เท่าหรือมากกว่านั้น
            -  สามารถลดต้นทุนได้ 30 % หรือมากกว่า
            -  ต้องเปลี่ยนสิ่งที่เป็นพื้นฐานของการแข่งขันหรือมีผลกระทบในวงกว้าง เช่น ทีวี โทรศัพท์ กล้องดิจิตอล และเป็นการพัฒนาสินค้าโดยเปลี่ยนแปลงทั้งวัสดุชิ้นส่วนในระบบ รูปลักษณ์รูปทรงใหม่คือ เป็นการปฏิรูปใหม่ทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่น VDO เปลี่ยนเป็น VCD  กล้องใช้ฟิล์มเปลี่ยนเป็นกล้องดิจิตอล

รูปแบบของนวัตกรรม
(1)  นวัตกรรมของผลิตภัณฑ์หรือบริการ(Product or Service Innovation)
           เกิดคุณสมบัติใหม่หรือพัฒนาคุณสมบัติ คุณลักษณะของสินค้าให้ดีมากขึ้น หรือแตกต่างจากสินค้าเดิม เช่น เพิ่มคุณสมบัติของผ้าให้หายใจได้ หรือกันน้ำ                 กระบวนการผลิตใหม่/พัฒนาขึ้นมาก รวมทั้งการเปลี่ยนเทคนิค เครื่องมืออุปกรณ์ และ/หรือซอร์ฟแวร์ เช่น  ลดต้นทุนในกระบวนการทอผ้า, ตลาดประมูลสินค้าออนไลน์อย่างAmazon.com และ E-bay.com, บริษัท Dell Computer เป็นต้น
                  (2)  นวัตกรรมของกระบวนการ(Process Innovation)  
                           มักจะใช้เพื่อลดต้นทุนหรือตัดกระบวนการที่ไม่สำคัญออกไปหรือเพิ่มคุณภาพของสินค้า/บริการ  เช่น  การใช้นวัตกรรม RFID ในWal-Mart  เพื่อให้บริการคิดราคาสินค้าอย่างสะดวกรวดเร็ว   
                    (3)  นวัตกรรมของการตลาด(Marketing Innovation
                           การออกแบบ, ช่องทางการจัดจำหน่าย, การบรรจุหีบห่อ, การกำหนดราคา, การส่งเสริมการขาย, เช่น  การออกแบบลายผ้าใหม่ โดยไม่เปลี่ยนคุณสมบัติเดิมของผ้า
                    (4)  นวัตกรรมขององค์การ(Organizational Innovation)
                           การปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหาร วิธีคิด วิธีปฏิบัติของการดำเนินงานในองค์การจากรูปแบบเดิมๆไปสู่รูปแบบใหม่ ที่จะช่วยส่งผลให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงานสูงสุด  ซึ่งเป็นการนำเครื่องมือทางการจัดการที่มีอยู่ในปัจจุบันมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ เช่น TQM(Total Quality Management), Six Sigma, Balance Scorecard, Benchmarking เป็นต้น
จงอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างนวัตกรรมกระบวนการ และนวัตกรรมผลิตภัณฑ์
            นวัตกรรม (innovation) เป็นการแสวงหาผลประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ และสังคมจากความคิดใหม่ นวัตกรรมในเชิงเศรษฐศาสตร์ คือ การนำแนวความคิดใหม่หรือการใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่แล้วมาใช้ในรูปแบบใหม่ เพื่อทำให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ หรือการทำในสิ่งที่แตกต่างจากคนอื่น โดยอาศัยการเปลี่ยนแปลงต่างๆ (Change) ที่เกิดขึ้นรอบตัวเราให้กลายมาเป็นโอกาส (Opportunity) และถ่ายทอดไปสู่แนวความคิดใหม่ที่ทำให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและสังคม
            นวัตกรรมเป็นตัวแปรที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงองค์การด้านต่างๆ ได้แก่ ความอยู่รอด การเจริญเติบโต การสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน การสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่  และสมรรถนะหลัก ซึ่งนวัตกรรมไม่ใช่แค่การพัฒนาสินค้าใหม่เท่านั้น แต่เกี่ยวข้องกับการลดต้นทุน การแสวงหาแนวทางการตอบสนองความต้องการของตลาด การยกระดับคุณภาพชีวิต และการสร้างคุณค่าเพิ่ม
            นวัตกรรมของผลิตภัณฑ์หรือบริการ (Product or Service Innovation) จะต้องเกิดคุณสมบัติใหม่หรือพัฒนาคุณสมบัติคุณลักษณะของสินค้าให้ดีมากขึ้น หรือแตกต่างจากสินค้าเดิม เช่น เพิ่มคุณสมบัติของผ้าให้หายใจได้ หรือกันน้ำ เป็นต้น
           นวัตกรรมของกระบวนการ(Process Innovation) มักจะใช้เพื่อลดต้นทุนหรือตัดกระบวนการที่ไม่สำคัญออกไปหรือเพิ่มคุณภาพของสินค้า/บริการ เช่น การใช้นวัตกรรม RFID ใน Wal- Mart เพื่อให้บริการคิดราคาสินค้าอย่างสะดวกรวดเร็ว
                        โดยธรรมชาตินวัตกรรมผลิตภัณฑ์ และ นวัตกรรมกระบวนการ มีความสัมพันธ์ระหว่างกันเป็นอย่างมาก เมื่ออัตราการเปลี่ยนแปลงของนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ลดลง อัตราการเปลี่ยนแปลงของนวัตกรรมกระบวนการเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการออกแบบกระบวนการผลิตให้เป็นมาตรฐาน  เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตและผลิตครั้งละในปริมาณที่มาก  ซึ่งความสัมพันธ์ดังกล่าวเป็นลักษณะความสัมพันธ์ผกผันกัน
              จากรูปกราฟดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ช่วงระยะเวลาของตัวแบบพลวัตรทางนวัตกรรมแบ่งออกเป็น 3 ช่วงระยะเวลา คือ ช่วงระยะเวลาไม่แน่นอน (Fluid Phase)  ช่วงระยะเวลาถ่ายโอน(Transitional Phase) และช่วงระยะเวลาเฉพาะเจาะจง(Specific Phase) โดยช่วง Fluid Phase เป็นช่วงระยะเวลาที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ความไม่แน่นอนเกิดขึ้น 2 รูปแบบคือ กลุ่มเป้าหมาย และเทคโนโลยีที่จะนำมาเสนอผู้ผลิตกล่าวคือ เทคโนโลยียังไม่ชัดเจน  ผู้ผลิตแย่งชิงความเป็นผู้นำ และส่วนแบ่งการตลาดยังมีน้อย  เมื่อเทียบกับวงจรชีวิตเศรษฐกิจจะอยู่ในช่วงของการฟื้นตัว(Recovery)เป็นช่วงที่มีการผลิตไม่มาก  คู่แข่งขันน้อย  มีนวัตกรรมใหม่ๆมานำเสนอ  ตลาดเป็นแบบเฉพาะกลุ่ม(Niche Market) สินค้ายังไม่เป็นที่รู้จัก  จะใช้แรงงานฝีมือในการผลิต และเป็นสินค้าหลัก
ช่วงระยะเวลาถ่ายโอน(Transitional Phase) ผลิตภัณฑ์ได้รับการยอมรับจากตลาด ผู้ประกอบธุรกิจมีอัตราการเจริญเติบโตที่สูงขึ้น  มีเสถียรภาพมากขึ้น  และเกิดแบบผลิตภัณฑ์มาตรฐาน(Dominant Design) ขึ้น  เทียบกับวงจรชีวิตเศรษฐกิจอยู่ในช่วงความรุ่งเรือง(Prosperity) เป็นช่วงที่ความต้องการสินค้ามีมาก  มีผู้แข่งขันรายใหม่เริ่มเข้ามาแข่งขัน  การผลิตเน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพ  เน้นอัตราการตอบสนองของตลาด  ใช้เครื่องจักรในการผลิตแบบLot Size และช่วงการถดถอย(Recession) เป็นช่วงที่เกิดการแพร่กระจายของนวัตกรรม(Diffusion) ขึ้น  คนเริ่มไม่ซื้อ  แข่งขันกันที่ราคา  และสินค้าไม่เป็นที่ต้องการของตลาดและเป็นการผลิตแบบต่อเนื่อง(Continuous)
                        ส่วนช่วงระยะเวลาเฉพาะเจาะจง(Specific Phase) กระบวนการผลิตให้ความสำคัญกับคำว่าประสิทธิภาพ  สินค้าและบริการเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในตลาด  นวัตกรรมผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมกระบวนการเป็นเรื่องเดียวกันเป็นช่วงที่นำสิ่งที่มีอยู่แล้วมาพัฒนาและต่อยอดให้ดีขึ้นโดยเน้นที่Incremental innovation เพื่อเพิ่มความหลากหลายในผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่ม รวมทั้งเพื่อพัฒนากระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ  ทำให้สามารถลดต้นทุนได้มากที่สุด  ในช่วงนี้จะแข่งขันกันในด้านราคาเป็นสำคัญ  เทียบกับวงจรชีวิตเศรษฐกิจอยู่ในช่วงตกต่ำ(Depression) เป็นช่วงที่ต้องเร่งสร้างนวัตกรรมใหม่ๆเพื่อให้แข่งขันกับคู่แข่งได้

วันศุกร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

การจัดการความรู้

กระบวนการจัดการความรู้มี 7 กิจกรร ดังนี้

1) การบ่งชี้ความรู้ คือ การระบุประเด็นความรู้ รูปแบบ และผู้รู้ที่สอดรับกับนโยบาย ขอบเขตและเป้าหมายขององค์ก
2) การสร้างและแสวงหาความรู้ คือ การรวบรวมความรู้ใหม่ รักษาความรู้เดิม และกรองความรู้ที่ไม่ใช้ออกจากแหล่งรวบรวม 
3) การจัดความรู้ให้เป็นระบบ คือ การวิเคราะห์และคัดแยกความรู้เป็นกลุ่มประเด็นให้ง่ายต่อการเข้าถึงอย่างมีขั้นตอน 
4) การประมวลและกลั่นกรองความรู้ คือ การปรับปรุงให้ความรู้มีรูปแบบมาตรฐาน ไม่ซ้ำซ้อน มีความสมบูรณ์ มีความถูกต้องและน่าเชื่อถือ 
5) การเข้าถึงความรู้ คือ การสร้างแหล่งเผยแพร่ที่สามารถเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา 
6) การแบ่งปันแลกเปลี่ยนความรู้ คือ การนำความรู้เข้าสู่เวทีแลกเปลี่ยนที่มีฐานความรู้หรือฐานข้อมูลรองรับให้ง่ายต่อการเข้าถึงและสืบค้น 
7) การเรียนรู้ คือ การใช้ความรู้เป็นส่วนหนึ่งของงาน เป็นวงจรความรู้ที่มีการเรียนรู้และพัฒนาให้เกิดประสบการณ์ใหม่อยู่เสมอ


การจัดการความรู้ คือ อะไร : ไม่ทำไม่รู้

การจัดการความรู้ เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งของการพัฒนาคุณภาพงาน นั่นคือเหตุผลที่  ทำให้สถาบันพัฒนา และรับรองคุณภาพโรงพยาบาล (พรพ.) หาทางสนับสนุนให้โรงพยาบาลในเครือข่ายใช้เทคนิคนี้ แต่เรื่องการจัดการความรู้นี้ มีความเข้าใจผิดกันอยู่ในสังคมไทย ทำให้เราพลาดโอกาสใช้  "อาวุธ"   อันทรงพลังนี้อย่างน่าเสียดาย
ความรู้ 2 ยุค  ความรู้ที่เราคุ้นเคยกัน เป็น "ความรู้ยุคที่ 1" แต่ความรู้ที่เน้นในเรื่องการจัดการความรู้ เป็น "ความรู้ยุคที่ 2"
ความรู้ยุคที่ 1 เป็นความรู้ที่สร้างขึ้นโดยนักวิชาการ มีความเป็นวิทยาศาสตร์ เน้นความเป็นเหตุเป็นผล พิสูจน์ได้โดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ หรือวิชาการ มีการจำแนกแยกแยะ เป็นความรู้เฉพาะสาขาวิชาการ เป็นความรู้ที่เน้นความลึก ความเป็นวิชาการเฉพาะด้าน (specialization)
ความรู้ยุคที่ 2 เป็นความรู้ที่ผูกพันอยู่กับงาน หรือกิจกรรมของบุคคล และองค์กร เป็นความรู้ที่ใช้งาน และสร้างขึ้นโดยผู้ปฏิบัติงาน หรือกลุ่มผู้ปฏิบัติงานเอง   โดยอาจสร้างขึ้นจากการเลือกเอาความรู้เชิงทฤษฎี หรือความรู้จากภายนอกมาปรับแต่ง เพื่อการใช้งาน หรือสร้างขึ้นโดยตรงจากประสบการณ์ในการทำงาน ความรู้เหล่านี้ มีลักษณะบูรณาการ และมีความจำเพาะต่อบริบทของงาน กลุ่มผู้ปฏิบัติงาน หน่วยงาน และองค์กรนั้นๆ
           การจัดการองค์ความรู้ จึงเป็นเรื่องของความรู้ที่มีบริบททีมจำเพาะ เป็นกิจกรรมของผู้ปฏิบัติงาน ไม่ใช่กิจกรรมของ "ผู้รู้" ทีมีความรู้เชิงทฤษฎีมากมาย และลึกซึ้ง ที่จะ "จัด" ความรู้  เพื่อให้ผู้ปฏิบัตินำไปประยุกต์ใช้
เป้าหมายของการจัดการความรู้
การจัดการความรู้มีเป้าหมาย 3 ประการใหญ่ๆ ได้แก่
1. เพื่อพัฒนางาน ให้มีคุณภาพและผลสัมฤทธิ์ยิ่งขึ้น
2. เพื่อการพัฒนาคน คือ พัฒนาผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งในที่นี้คือ พนักงานทุกระดับ แต่ที่จะได้ประโยชน์มากที่สุด คือ พนักงานชั้นผู้น้อย และระดับกลาง
3. เพื่อการพัฒนา "ฐานความรู้" ขององค์ หรือหน่วยงาน เป็นการเพิ่มพูนทุนความรู้ หรือทุนปัญญาขององค์กร ซึ่งจะช่วยทำให้องค์กรมีศักยภาพในการฟันฝ่า ความยากลำบาก หรือความไม่แน่นอนในอนาคตได้ดีขึ้น
ความรู้คืออะไร
เป็นการยากมากที่จะให้นิยาม คำว่า "ความรู้" ด้วยถ้อยคำสั้นๆ ยิ่งในความหมายที่ใช้ในศาสตร์ ด้านการจัดการความรู้ คำว่า "ความรู้" ยิ่งมีความหมายหลายนัย และหลายมิติ
o   ความรู้ คือ สิ่งที่เมื่อนำไปใช้ จะไม่หมด หรือสึกหรอ แต่จะยิ่งงอกเงย หรืองอกงามขึ้น
o   ความรู้ คือ สารสนเทศที่นำไปสู่การปฏิบัติ
o   ความรู้ เป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้
o   ความรู้ เกิดขึ้น ณ จุดที่ต้องการใช้ความรู้นั้น
o   ความรู้ เป็นสิ่งที่ขึ้นกับบริบท และกระตุ้นให้เกิดขึ้น โดยความต้องการ
ในยุคแรกๆ ของการพัฒนาศาสตร์ด้านการจัดการความรู้ มองว่า ความรู้ มาจากการจัดระบบ และตีความ สารสนเทศ (Information) ตามบริบท และสารสนเทศก็มาจากการประมวล ข้อมูล (data) ความรู้จะไม่มีประโยชน์ ถ้าไม่นำไปสู่การกระทำ หรือการตัดสินใจในการจัดการสมัยใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยุคแห่งสังคมที่ใช้ความรู้เป็นฐาน (knowledge-based society) มองความรู้ว่าเป็น ทุนปัญญา หรือทุนความรู้สำหรับการสร้างคุณค่า และมูลค่า (value) การจัดการความรู้เป็นกระบวนการใช้ทุนปัญญา นำไปสร้างคุณค่า และมูลค่า ซึ่งอาจเป็นมูลค่าทางธุรกิจ หรือคุณค่าทางสังคมก็ได้
ชนิดของความรู้
ความรู้อาจแบ่งเป็น 3 ชนิด ตามลักษณะที่ปรากฎ ดังนี้
1. ความรู้ที่เปิดเผย (explicit knowledge) รู้กันทั่วไป พบเห็นโดยทั่วไปในหนังสือ ตำรา สื่อต่างๆ เข้าถึง และแลกเปลี่ยนได้ไม่ยาก
2. ความรู้ที่แฝงอยู่ในองค์กร (embedded knowledge) แฝงอยู่ในรูปกระบวนการทำงาน คู่มือ กฎเกณฑ์ กติกา ข้อตกลง ตารางการทำงาน บันทึกจากการทำงาน
3. ความรู้ที่ฝังลึกในคน (tacit knowledge) ฝังอยู่ในความคิด ความเชื่อ ค่านิยม ที่คนได้มาจากประสบการณ์ ข้อสังเกต ที่สั่งสมมานาน จากการเรียนรู้ที่หลากหลาย และเชื่อมโยงจนเป็นความรู้ที่มีคุณค่าสูง แต่แลกเปลี่ยนยาก
ความรู้ที่ฝังลึกไม่สามารถแปลเปลี่ยนมาเป็นความรู้ ที่เปิดเผยได้ทั้งหมด แต่จะต้องเกิดจากการเรียนรู้ ผ่านความเป็นชุมชน เช่น การสังเกต แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างการทำงาน
ระดับของความรู้
เพื่อความเข้าใจความหมายของคำว่า "ความรู้" ให้ลึกซึ้งขึ้น ขอนำเสนอความรู้ 4 ระดับ คือ  know-what,  know-how,  know-why  และ care-why
1.          know-what เป็นความรู้เชิงทฤษฎีล้วนๆ เปรียบเสมือนความรู้ของผู้จบปริญญามาหมาดๆ เมื่อนำเอาความรู้เหล่านี้ไปใช้งาน ก็จะได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง
2.          know-how เป็นความรู้ที่มีทั้งเชิงทฤษฎี และเชิงบริบท เปรียบเสมือนความรู้ของผู้จบปริญญา และมีประสบการณ์การทำงานระยะหนึ่ง เช่น 2-3 ปี ก็จะมีความรู้ในลักษณะที่รู้จัก ปรับให้เข้ากับสภาพแวดล้อม หรือบริบท
3.          know-why เป็นความรู้ในระดับที่อธิบายเหตุผลได้   ว่าทำไมความรู้นั้นๆ   จึงใช้ได้ผลในบริบทหนึ่ง  แต่ใช้ไม่ได้ผลในอีกบริบทหนึ่ง
4.          care-why เป็นความรู้ในระดับคุณค่า ความเชื่อ ซึ่งจะเป็นแรงขับกันมาจากภายในจิตใจ ให้ต้องกระทำสิ่งนั้นๆ เมื่อเผชิญสถานการณ์
ความรู้ 5 กลุ่ม
ในตอนที่แล้วกล่าวถึง ความรู้ชัดแจ้ง (explicit หรือ codified knowledge) ซึ่งเป็นตระกูล "ความรู้ในกระดาษ" กับความรู้ฝังลึก (tacit knowledge) ซึ่งเป็นตระกูล "ความรู้ในคน" David Snowden แห่งศูนย์พัฒนาศาสตร์ด้าน การจัดการความรู้ชื่อ Cynefin Centre (Cynefin อ่านว่า คูเนพวิน) ของบริษัท ไอบีเอ็ม ได้เสนอให้จำแนกความรู้ออกเป็น 5 กลุ่ม คือ
o Artefact หมายถึง วัตถุซึ่งห่อหุ้มความรู้ หรือเทคโนโลยีไว้ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง มีความรู้ฝังอยู่ภายใน
o Skills หมายถึง ทักษะในการปฏิบัติงาน หรือกระทำกิจการต่างๆ กัน เป็นผลจากการได้ฝึกทำ หรือทำงาน จนเกิดเป็นทักษะ
o Heuristics หมายถึง กฎแห่งสามัญสำนึด หรือเหตุผลพื้นๆ ทั่วๆ ไป
o Experience หมายถึง ประสบการณ์จากการได้ผ่านงาน หรือกิจการเช่นนั้นมาก่อน
o Talent หรือ Natural talent หมายถึง พรสวรรค์ อันเป็นความสามารถพิเศษ เฉพาะตัว ที่มีมาแต่กำเนิด
คุณสมบัติทั้ง 5 กลุ่มนี้ ถือเป็นความรู้ทั้งสิ้น และจะต้องรู้จักนำมาใช้ประโยชน์ ในกระบวนการจัดการความรู้ เมื่อนำอักษรตัวหน้าของคำทั้ง 5 มาเรียงกันเข้า จะได้เป็น ASHET หรือ ASHEN ความรู้กลุ่มที่ค่อนไปทางข้าง จะมีลักษณะ "ชัดแจ้ง" (explicit) มากกว่า สามารถหยิบฉวยมาใช้โดยตรง ได้ง่ายกว่า ส่วนหลุ่มที่อยู่ค่อนข้างมาทางข้างล่าง จะมีลักษณะ "ฝังลึก" (tacit) มากว่า แลกเปลี่ยนได้ยาก ยิ่งพรสวรรค์จะยิ่งแลกไม่ได้เลย จะสังเกตเห็นว่า ในความรู้ 5 กลุ่มนี้ เป็นพรสวรรค์ 1 กลุ่ม และเป็นพรแสวง 4 กลุ่ม
การจัดการความรู้ คืออะไร
การจัดการความรู้ เป็นกระบวนการ (process)  ที่ดำเนินการร่วมกัน   โดยผู้ปฏิบัติงานในองค์กร หรือหน่วยงานย่อยขององค์กร   เพื่อสร้าง และใช้ความรู้ในการทำงาน ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ดีขึ้นกว่าเดิม
การจัดการความรู้ในความหมายนี้ จึงเป็นกิจกรรมของผู้ปฏิบัติงาน ไม่ใช่กิจกรรมของนักวิชาการ หรือนักทฤษฎี แต่นักวิชาการ หรือนักทฤษฎีอาจเป็นประโยชน์ ในฐานะแหล่งความรู้ (resource person) หรือผู้อำนวยความสะดวกในการจัดการความรู้
การจัดการความรู้ เป็นกระบวนการที่เป็นวงจรต่อเนื่อง เกิดการพัฒนางานอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ เป้าหมายคือ การพัฒนางาน และพัฒนาคน โดยมีความรู้เป็นเครื่องมือ มีกระบวนการจัดการความรู้เป็นเครื่องมือ
การจัดการความรู้ เป็นเครื่องมือ ไม่ใช่เป้าหมาย
การจัดการความรู้ ด้านอุปทาน
ความเข้าใจผิดในสังคมไทยอีกประการหนึ่ง คือ คิดว่าการจัดการความรู้เป็นกิจกรรมที่    "ผู้มีความรู้"    เอาความรู้มาจัดระบบ สังเคราะห์ความรู้ขึ้นเพื่อให้ผู้อื่นใช้  หรือ ที่เรียกว่า   เป็นการจัดการความรู้ด้านอุปสงค์ (supply-side KM)
การจัดการความรู้ที่แท้จริง เป็นการจัดการความรู้โดยกลุ่มผู้ปฏิบัติงาน เป็นการดำเนินกิจกรรมกัน ในกลุ่มผู้ทำงาน เพื่อช่วยกันดึง "ความรู้ในคน" และ "คว้า" (capture) ความรู้ภายในองค์กรมาใช้ในการทำงาน และคอย "คว้า" ความรู้ที่เกิดขึ้น จากการทำงาน เอามายกระดับความรู้ และนำกลับไปใช้ในการทำงานเป็นวงจรต่อเนื่องไม่จบสิ้น   นั่นคือ การจัดการความรู้เน้นที่ การการจัดการความรู้ด้านอุปทาน (demand-side KM) แต่ก็ไม่ปฏิเสธผู้ที่ช่วยจัดการความรู้ ด้านอุปสงค์ โดยมองว่ากิจกรรมเหล่านั้น เป็น "การอำนวยความสะดวก ในการจัดการความรู้" (knowledge facilitation) ไม่ใช่การจัดการความรู้
การจัดการความรู้ เป็นกิจกรรมเพื่องาน เพื่อผู้ทำงาน โดยผู้ทำงาน อยู่ภายใต้การกระทำ และการตัดสินใจของกลุ่มผู้ทำงานร่วมกัน
หลักการ 4 ประการ ของการจัดการความรู้
หลักการสำคัญ 4 ประการ ได้แก่
1.   ให้คนหลากหลายทักษะ หลากหลายวิธีคิด ทำงานร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ การจัดการความรู้ที่มีพลัง ต้องทำโดยคนที่มีพื้นฐานแตกต่างกัน มีความเชื่อ หรือวิธีคิดแตกต่างกัน (แต่มีจุดรวมพลัง คือ มีเป้าหมายอยู่ที่งานด้วยกัน) ถ้ากลุ่มที่ดำเนินการจัดการความรู้ ประกอบด้วยคนที่คิดเหมือนๆ กัน การจัดการความรู้จะไม่มีพลังในการจัดการความรู้ ความแตกต่างหลากหลาย (heterogeneity) มีคุณค่ามากกว่าความเหมือน (homogeneity)
2.    ร่วมกันพัฒนาวิธีการทำงานในรูปแบบใหม่ๆ เพื่อบรรลุประสิทธิผลที่กำหนดไว้ หรือฝันว่าจะได้ ในการจัดการสมัยใหม่ ประสิทธิผลประกอบด้วย องค์ประกอบ 4 ประการ คือ
o   การตอบสนองความต้องการ (responsiveness) ซึ่งอาจเป็นความต้องการของลูกค้า ความต้องการของสังคม หรือความต้องการที่กำหนดโดยผู้บริหารองค์กร
o   นวัตกรรม (innovation) ซึ่งอาจเป็นนวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ หรือวิธีการใหม่ๆ ก็ได้
o   ขีดความสามารถ (competency) ขององค์กร
o   ประสิทธิภาพ (efficiency) ในการทำงาน
3.   ทดลองและเรียนรู้ เนื่องจากกิจกรรมการจัดการความรู้ เป็นกิจกรรมสร้างสรรค์ ซึ่งหมายความว่าต้องคิดแบบ "หลุดโลก" จังต้องมีวิธีการดึงกลับมาสู่ความเป็นจริงในโลก หรือในสังคม โดยการทดลองทำเพียงน้อยๆ ซึ่งถ้าล้มเหลว ก็ก่อผลเสียหายไม่มากนัก ถ้าได้ผลไม่ดีก็ยกเลิกความคิดนั้น ถ้าได้ผลดี จึงขยายการทดลองเป็นทำมากขึ้น จนในที่สุด ขยายเป็นวิธีทำงานแบบใหม่ หรือได้ best practices ใหม่นั่นเอง
4.  นำความรู้จากภายนอกอย่างเหมาะสม โดยต้องถือว่า ความรู้จากภายนอกยังเป็นความรู้ที่ยัง "ดิบ" อยู่ ต้องเอามาทำให้ "สุก" ให้พร้อมใช้ในบริบทของเรา โดยการเติมความรู้เชิงบริบทลงไป
การจัดการความรู้ กับ องค์กรเรียนรู้
การจัดการความรู้ กับ องค์กรเรียนรู้ เป็น 2 หน้าของเหรียญเดียวกัน เกื้อกูลส่งเสริมซึ่งกันและกัน เป็นเหตุผลซึ่งกันและกัน ผู้สนใจเรื่ององค์กรเรียนรู้ ค้นได้จาก เว็ปไซต์ ของ สคส. (www.kmi.or.th)
การจัดการความรู้ เป็นทักษะ ไม่ทำ-ไม่รู้
มีคนจำนวนไม่น้อย ที่เฝ้าหาทางเรียนรู้เรื่อง การจัดการความรู้ ด้วยการอ่านหนังสือ หรือฟัง "ผู้รู้" บรรยาย การกระทำเช่นนั้น จะไม่มีทางช่วยให้รู้จักการจัดการความรู้ได้เลย เนื่องจากการจัดการเป็นทักษะ (skill) ไม่ใช่ความรู้เชิงทฤษฎี หรือกล่าวให้ชัดเจนขึ้น การจัดการความรู้มีส่วนที่เป็นทักษะสิบส่วน และส่วนที่เป็นทฤษฎีเพียงส่วนเดียว (คล้ายพุทธศาสนา) การเรียนรู้โดยการท่องทฤษฎี จึงแทบจะไม่มีประโยชน์ ต้องลงมือทำ จึงจะทำเป็น และเกิดความรู้ความเข้าใจ
การจัดการความรู้เป็นเครื่องมือ มิใช่เป้าหมาย เป้าหมายของการจัดการความรู้ คือ การทำให้ทุกคนมีความรู้ และนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ โดยทำให้ความรู้ของแต่ละคน กลายมาเป็นความรู้ของกลุ่ม และมาเป็นความรู้ขององค์กร ซึ่งยิ่งใหญ่ และทรงพลังกว่าความรู้ของบุคคล รวมทั้งเชื่อมโยงกับความรู้จากภายนอก ทำให้งานของเราดีขึ้น ผู้ป่วยของเราดีขึ้น บ้านเมืองของเราดีขึ้น
การจัดการความรู้เป็นเครื่องมือ เพื่อพัฒนางาน และคน เป็นเครื่องมือทำในสิ่งที่ไม่คาดคิดว่าจะทำได้ เป็นเครื่องมือใช้ความรู้ของทั้งโลก เป็นเครื่องมือดึงศักยภาพของคน และทีมออกมาใช้ เป็นเครื่องมือเพื่อความอยู่รอด ในสถานการณ์ที่พลิกผัน
พลังสร้างสรรค์ เกิดจากการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน หลายคนไม่คิดว่า ตัวเองจะมีศักยภาพสูงขนาดนี้ แต่กระบวนการจะช่วย ตัวช่วยมากที่สุด คือ ความสัมพันธ์กับเพื่อนที่ทำงานด้วยกัน คนที่อยู่ในองค์กรที่มีความสัมพันธ์ภายใน ไม่ดีจะขาดทุนมาก เพราะไม่สามารถดึงพลังในตัวเองออกมา
เหตุผลที่องค์กรนำการจัดการความรู้มาใช้
เพื่อเก็บความทรงจำขององค์กรไว้ เช่น องค์กรที่มีวิศวกรที่มีประสบการณ์สูงอายุเฉลี่ย 55 ปี อีกไม่กี่ปีก็จะเกษียณกันหมด ทำให้ความทรงจำขององค์กร ประสบการณ์ ขีดความสามารถในการทำงาน ที่อยู่ในสมองของคน
1.          หายๆไปด้วย หรือองค์กรมีคนทำงาน เป็นคนหนุ่มสาว ซึ่งจะกระโดดเปลี่ยนงาน เมื่อมีโอกาส ต้องมีการจัดการความรู้ เพื่อเก็บความรู้ไว้ในองค์กร
2.          เพื่อสงวนสมองขององค์กร ทำให้คนมีความสุข มีคุณค่า ไม่ออกไปจากองค์กร
3.          เพื่อเพิ่มประสิทธิผลขององค์กร ซึ่งประสิทธิผลในที่นี้ ครอบคลุมการตอบสนอง (ความต้องการของลูกค้า เป้าหมายขององค์กร และเป้าหมายของสังคม) นวัตกรรม ขีดความสามารถ และประสิทธิภาพ
4.          เพิ่มทุนปัญญาให้แก่องค์กร คนมีความสำคัญ แต่ความสัมพันธ์ระหว่างคน มีความสำคัญมากกว่า
กิจกรรมการจัดการความรู้
กิจกรรมการจัดการเพื่อให้มีการนำความรู้ มาใช้ประโยชน์ ประกอบด้วย
1.          การกำหนดความรู้ที่ต้องการใช้ (define) เป็นการนำความมุ่งมั่น วิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าหมาย และวัตถุประสงค์ ขององค์กามากำหนดความรู้ ที่ต้องการใช้ เพื่อให้มีการจัดการความรู้ มีจุดเน้น ไม่สะเปะสะปะ
2.          การเสาะหา และยึดกุมความรู้ (capture) เป็นการพัฒนาขีดความสามารถ ในการเสาะหา และยึดกุมความรู้ที่กระจัดกระจาย หรือแฝงอยู่ตามที่ต่างๆ มาใช้ประโยชน์ ดำเนินการอย่างสม่ำเสมอ จนเกิดทักษะ และความชำนาญ ในการเสาะหา และยึดกุม  แหล่งของความรู้ที่จะเสาะหา อาจจะมาจากภายนอก (คู่แข่ง คู่ค้า ผู้ที่เป็นเลิศ วิธีการ หลักการ) หรือจากผู้ที่ทำงานด้วยกันในองค์กร
3.          การสร้างความรู้ (create) ในมุมมองเดิม ความรู้จะต้องสร้างโดยผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญ ในมุมมองใหม่ ความรู้เกิดขึ้นทุกจุดของการทำงาน โดยทุกคนที่ทำงาน เป็นความรู้ที่ฝังอยู่ในสมอง ซึ่งอาจจะพูดออกมาไม่ได้ การสร้างความรู้ อาจทำได้ทั้งก่อนลงมือทำ ระหว่างการทำงาน และสรุปประมวลประสบการณ์ หลังจากการทำงานในการสร้างความรู้ ไม่จำเป็นต้องสร้างใหม่ทั้งหมด 100% อาจเริ่มจาก 10-20% ก็ได้
4.          การกลั่นกรอง (distill) ความรู้บางอย่าง เป็นสิ่งล้าสมัย บางอย่างเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม กับบริบท หรือสภาพแวดล้อมสำหรับเรา จำเป็นต้องมีการกลั่นกรอง เพื่อให้นำความรู้ที่เหมาะสมมาใช้
5.          การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (share) การแลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะแต่ละคนมีมุมมองต่อความรู้ ไม่เหมือนกัน ต้องมาแลกเปลี่ยน มิฉะนั้นจะเก็บอยู่ภายในตัว ไม่มีการยกระดับความรู้ ถ้าขาดการแลกเปลี่ยน ความรู้ที่มีอยู่จะเก่า ล้าสมัยอย่างรวดเร็ว ไม่งอกงาม ยิ่งแลกเปลี่ยนมาก ก็ยิ่งได้กำไรมาก
การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็นสิ่งยากที่สุด คนไม่อยากแลกเปลี่ยน เพราะกลัวขาดทุน กลัวเสียเปรียบ ต้องสร้างเงื่อนไข และกติกาที่ส่งเสริมการแลกเปลี่ยน การแบ่งปัน ให้เกิดประโยชน์แก่ผู้มีพฤติกรรมแบ่งปันความรู้ และไม่ให้ผลประโยชน์แก่ผู้มีพฤติกรรม กักตุน หรือปกปิดความรู้
6.          การประยุกต์ใช้ความรู้ (use) ทำให้เกิดผลจากการใช้ความรู้ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ / บริการ พัฒนากระบวนการทำงาน พัฒนาสมาชิกองค์การ และมีผลเชิงป้องกันกลับ ต่อขั้นตอนการจัดการความรู้ที่กล่าวมา
การใช้ความรู้ต้องเน้นที่การเอาความรู้ มาใช้ในการทำงานให้มาก อย่าเริ่มด้วยการหาความรู้มาใส่ไว้ในคอมพิวเตอร์   ซึ่งเสี่ยงมากที่จะไม่เกิดประโยชน์ ไม่คุ้มค่า
กิจกรรมการจัดการความรู้ทั้ง 6 ขั้นตอน มีความสัมพันธ์ และเชื่อมโยงกันและกัน เป็นวงจร มิใช่ความสัมพันธ์เชิงเส้นตรง ก่อน-หลัง   แต่เป็นวัฏจักรที่หมุนเวียน ผลิตซ้ำ พัฒนา และยกระดับขึ้นไปไม่มีที่สิ้นสุด
เคล็ดลับการจัดการความรู้
เคล็ดลับชิ้นแรก ได้กล่าวไว้แล้ว ได้แก่ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Knowledge Sharing)
เคล็ดลับที่ 2 ก็ได้กล่าวแล้วเช่นกัน ได้แก่ การหมุนเกลียวความรู้ (Knowledge Spiral) เพื่อยกระดับความรู้ของกลุ่ม หรือขององค์กร
เคล็ดลับที่ 3 ทำให้ความรู้ของบุคคล เป็นหนึ่งเดียวกับ ความรู้ขององค์กร
เคล็ดลับที่ 4 การยกระดับความรู้โดยเคลื่อนความรู้ข้ามแดน ได้แก่ (1) ข้ามแดนตระกูลความรู้ คือ ข้ามไปมาระหว่างความรู้ในคน กับความรู้ในกระดาษ (2) ข้ามแดนบุคคล ให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างคน โดยเฉพาะระหว่างคนที่มีมุมมอง หรือวิธีคิดต่างกัน (3) ข้ามแดนหน่วยงาน ภายในองค์กร หรือถ้าไม่ติดปัญหาการรักษาความลับ การข้ามแดนออกไปนอกองค์กร จะยิ่งช่วยยกระดับความรู้ (4) ข้ามแดนระดับความรับผิดชอบในองค์กร ได้แก่ ข้ามแดนระหว่างพนักงาน ระดับปฏิบัติการ - ผู้บริหารระดับกลาง - ผู้บริหารระดับสูง วนกลับไปกลับมา และ (5) ข้ามแดนรูปแบบการทำงาน ได้แก่ รูปแบบการทำงานที่เน้นกฎระเบียบ และการบังคับบัญชา (bureaucracy) กับรูปแบบการทำงาน ที่เน้นความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ (project team)
ผลของการจัดการความรู้
ผลของการจัดการความรู้มีอย่างน้อย 4 ประการ
1. ผลสัมฤทธิ์ของงาน เกิดผลสำเร็จในระดับดีมาก ขึ้นไปถึงขั้นน่าภาคภูมิใจ หรือระดับนวัตกรรม
2. พนักงาน เกิดการพัฒนา การเรียนรู้ เกิดความมั่นใจตนเอง เกิดความเป็นชุมชนในหมู่ผู้ร่วมงาน เป็นบุคคลเรียนรู้
3. ความรู้ ของบุคคล และขององค์กรได้รับการยกระดับ มีการสั่งสอน และขัดระบบให้ "พร้อมใช้" องค์กร หรือหน่วยงาน มีสภาพเป็นองค์กรเรียนรู้
สรุป
กิจกรรมการจัดการความรู้  เป็นเครื่องมือระดมความรู้ในคน (tacit knowledge)   และความรู้ในกระดาษ (explicit knowledge)  ทั้งที่เป็นความรู้ของกลุ่มผู้ร่วมงาน เอามาใช้งาน และยกระดับความรู้ของบุคคล ของกลุ่มผู้ร่วมงาน และขององค์กร ทำให้งานมีคุณภาพสูงส่ง พนักงานเป็นบุคคลเรียนรู้    และองค์กรเป็นองค์กรเรียนรู้    การจัดการความรู้เป็นทักษะสิบส่วน    เป็นความรู้เชิงทฤษฎีเพียงส่วนเดียว     การจัดการความรู้จะคงอยู่ในลักษณะ  "ไม่ทำ-ไม่รู้"

ขอขอบพระคุณบทความ จาก กพร. และ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช เป็นอย่างสูง บทความนี้มีประโยชน์ต่อนักศึกษา และ ผู้สนใจทุกท่านมาก ขอขอบคุณอีกครั้งครับ