วันอังคารที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

PA704 คำนิยาม คำสำคัญ และ แนวการวิเคราะห์นโยบายสาธารณะ










PA704 บทวิเคราะห์การเมือง คุณนิธิ เอียวศรีวงศ์



การเมือง : บทวิเคราะห์

'นิธิ' ชี้ สังคมเปลี่ยนระดับ 'สำนึก'  'ยุบสภา-ยุติชุมนุม'ไม่ใช่ทางออกความขัดแย้ง
ขอขอบพระคุณบทความของ : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์     วันที่ 27 มีนาคม 2553 เพื่อใช้เป็นสื่อการเรียนการสอน ขอขอบพระคุณเป็นที่สุดครับ


สัมภาษณ์พิเศษ นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการอิสระ ในรายการ "คม ชัด ลึก "ทาง เนชั่น แชนแนล เกี่ยวกับสถานการณ์การเมือง


นายนิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการอิสระ สัมภาษณ์ในรายการ "คม ชัด ลึก "ทาง เนชั่น แชนแนล เกี่ยวกับสถานการณ์การเมือง โดยมองว่าปรากฏการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยในช่วงสิบ กว่าปีที่ผ่านมา แต่ "ระบบการเมือง" ของไทยปรับไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลง และเชื่อว่าไม่ว่า "ยุบสภา" หรือ "เสื้อแดงยุติชุมนุม" การเรียกร้องต่างๆ ก็ยังมีอยู่ มีรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้
สถานการณ์การเมืองขณะนี้ถือเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ใหม่หรือเปล่า
ผมไม่อยากให้จำกัดเฉพาะ "สถานการณ์" อย่างเดียว ผมคิดว่าประเทศไทยกำลังเปลี่ยนแปลงในระดับที่ลึกมาก ไม่ใช่เพิ่งมาเปลี่ยนแปลงเอาตอนนี้ สัญญาณการเปลี่ยนแปลงปรากฏให้เห็นเมื่อสิบกว่าปีมาแล้ว ตั้งแต่สมัยก่อนหน้าที่คุณทักษิณ (ชินวัตร) จะเป็นนายกฯด้วยซ้ำไป มันมีความเปลี่ยนแปลงให้เห็นมาประมาณสิบกว่าปี
สังเกตจากสถานการณ์อะไร
อย่าดูที่สถานการณ์อย่างเดียว เราดูที่ภูมิหลังเศรษฐกิจการเมืองของไทย จะพบว่าประการแรก ผู้ประกอบการเกษตรเพื่อเลี้ยงตนเอง เหลือจำนวนน้อยลงมากๆ ส่วนใหญ่ผู้ประกอบการเกษตร ทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ของคนไทยเวลานี้เป็นไปในเชิงพาณิชย์ทั้งนั้น มีการเติบโตของเมือง เวลานี้คนไทยกว่า 50% อยู่ในเขตที่เรานิยามว่าเมือง อันที่สาม แม้แต่ในเขตชนบท ที่เป็นชนบทแท้ๆ ก็เปลี่ยนแปลงไปแล้ว คนจำนวนมากสูญเสียที่นาตนเอง ก็มีทางเลือกสองอย่างคือเป็นแรงงานรับจ้างเกษตรกรรม ซึ่งจนมากๆ เลย มีงานให้ทำน้อย ปีละ 140-150 วัน อีกส่วนหนึ่งที่มีทุนอยู่บ้าง คุณก็เปลี่ยนอาชีพมาเป็นขายก๋วยเตี๋ยว ช่างทำผม ในพื้นที่ที่ยังเป็นหมู่บ้านอยู่ ส่วนคนในหมู่บ้านเอง คนก็ออกไปทำงานรับจ้าง เป็นครู มีอาชีพที่หลากหลายมาก ไม่แตกต่างจากเมือง ภาพข้างนอกอาจเป็นหมู่บ้าน แต่เจาะลึกลงไปไม่ใช่ คนเหล่านั้นมีวิถีชีวิตที่แตกต่างจากเมือง สื่อเองก็ขยายไปทั่วทุกหัวระแหงในสังคมไทย ทั้งหมดของการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ทำให้การเมืองคงสภาพเดิมไม่ได้ ฉะนั้น เวลาเราพูดถึงสำนึกทางการเมืองของคนไทยอย่างชนิดที่สังคมไทยไม่เคยเจอมาก่อนที่คนจำนวนมากมายมหาศาลเหล่านี้เกิดมีสำนึกทางการเมืองเข้ามา อยากจะเข้ามามีส่วนร่วม อยากจะเข้ามากำกับดูแล อยากจะเข้ามาดูแลให้นโยบายเป็นประโยชน์แก่ตน ซึ่งก็เป็นของปกติธรรมดาของสังคมมนุษย์ในโลกนี้ เอาเพียงแค่นี้ก่อน มันเกิดขึ้นเมื่อไร ผมคิดว่าเกิดขึ้นก่อนปี 2530 ก่อนหน้าจะมีรัฐธรรมนูญปี 2540 ด้วยซ้ำไป เพราะฉะนั้นเพียงแค่นี้ก็ทำให้เราไม่สามารถพูดถึงระบบการเมืองที่ไม่กระจายอำนาจตัดสินใจลงไปสู่คนส่วนใหญ่ได้ คุณจะชอบมันหรือไม่ชอบมันนั้นไม่เกี่ยว แต่มีเปลี่ยนถึงระดับนี้แล้ว
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้ถือว่าเล็กมาก
ไม่ใช่เล็ก ผมไม่อยากให้คนไทยคิดง่ายๆ ว่าหากมีการยุบสภาแล้วทุกอย่างจะเรียบร้อย หรือ ไม่ยุบสภา แต่สามารถทำให้คนเสื้อแดงกลับไปแล้วทุกอย่างจะเรียบร้อย ไม่ใช่ แต่เป็นปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้นแล้วเกิดขึ้นอีก ไม่จำเป็นในรูปของการประท้วง ไม่ต้องประท้วงก็ได้ อีกนานาชนิด สรุปก็คือ ทุกครั้งที่ระบบเศรษฐกิจสังคมเปลี่ยน คุณต้องปรับระบบการเมือง เพราะการเมืองคือการสะท้อน กฎเกณฑ์ กติกา ระเบียบปฏิบัติ ที่ประสานผลประโยชน์ของคนหลากหลายกลุ่ม พอผลประโยชน์เปลี่ยน ตัวระบบการเมืองก็ต้องเปลี่ยน และประเทศไทยเคยปรับระบบการเมืองมาหลายหนแล้ว หากคุณย้อนไปดูประวัติศาสตร์ รัชกาลที่ 4-5 เคยปรับมาแล้วในช่วงเปิดประเทศ ระบบการเมืองแบบพระเจ้าแผ่นดินทรงอำนาจทางทฤษฎี แต่ไม่ทรงอำนาจในทางปฏิบัติ มันเป็นไปไม่ได้ เพราะมาถึงรัชกาลที่ 5 ก็ทรงเปลี่ยนระบบการเมืองให้พระเจ้าแผ่นดินมีอำนาจทางกฎหมายและทางปฏิบัติจริงๆ ด้วย ถามว่าใช้เวลากี่ปี ตั้งแต่ปี 2398-2436 เป็นเวลา 40 กว่าปี ดังนั้นการปรับเปลี่ยนการเมืองรับการเปลี่ยนแปลงสังคมเศรษฐกิจมันต้องใช้เวลา ฉะนั้นอย่าไปหวังว่าคนเสื้อแดงกลับบ้าน แล้วทุกอย่างจบ หรือรัฐบาลยุบสภาแล้วจบ ไม่จบหรอก นี่เป็นช่วงระยะเวลาระบบการเมืองของไทยปรับตัวมันเอง
การเมืองต้องปรับ
ไม่ใช่การเมืองของนักการเมืองนะ เป็นระบบการเมือง
อาจารย์เห็นการปรับเปลี่ยนไหม
มันช้าไป ปรับเปลี่ยนช้าไป ตัวอย่างง่ายๆ ถามว่าพรรคการเมืองไทยที่มีมาหลายสิบปีมาแล้ว เข้าใจความเปลี่ยนแปลงของสังคมเพื่อปรับตัวเอง พรรคการเมืองไทยไม่ได้ปรับอะไรเลย คุณทักษิณจะดีจะชั่วอะไรก็แล้วแต่ แกเข้าใจการเปลี่ยนแปลงสังคมตรงนี้ แล้วแกก็ทำให้พรรคไทยรักไทย ซึ่งก็ไม่ได้ทำให้ผมน่าศรัทธามากนัก แต่อย่างน้อยรู้เลยว่าพรรคการเมืองต้องมีฐานมวลชนมากกว่าที่เคยมีมา แล้วแกก็ทำ
ทางออกสถานการณ์ตอนนี้คืออะไร
ผมเดาไม่ถูกหรอกครับ ทางออกทางเลือกมีหลายทาง หากมีคนใจร้อนและมีอำนาจอยู่ แล้วเขาคิดว่าวิธีที่ดีที่สุดคือปิดกั้นการพัฒนาประชาธิปไตยโดยวิธีการรุนแรง เช่น ยึดอำนาจเสีย หากมีคนใจร้อนอย่างนั้น โอกาสที่เราจะปะทะกันอย่างนองเลือดก็น่ากลัวมาก ในทางตรงกันข้ามหากเปรียบเทียบในหลายสังคม เช่นอังกฤษก็ได้ ประชาธิปไตยตรงไปตรงมากว่าเราอีก เช่น มันบอกเลยว่าหากคุณไม่เสียภาษีทรัพย์สินคุณไม่มีสิทธิเลือกตั้ง ผู้หญิงก็ไม่เกี่ยว แต่เมื่อกลุ่มชนชั้นนำในอังกฤษมันไม่อยากฆ่ากันเอง ก็คิดว่าวิธีป้องกันต้องขยายสิทธิประชาธิปไตย ก็เลยให้คนอื่นเลือกตั้งบ้าง จะได้เลือกเรา จะได้ชนะคู่แข่ง ประชาธิปไตยก็ขยายขึ้น หรือเรียกว่าประชานิยม ไง ประชาธิปไตยก็ขยายขึ้น ผู้หญิงก็เพิ่งมีสิทธิเลือกตั้งเมื่อศตวรรษที่ 20 นี่เอง แค่ผู้หญิงมีสิทธิเลือกตั้ง มันเปลี่ยนการเมืองอย่างมากนะคุณ ประเด็นที่เกี่ยวกับผู้หญิงเพียงคุณสนใจ คะแนนเสียงก็มาแล้ว หากชนชั้นนำรู้จักแข่งกันเอง ประนีประนอมกันเองโดยวิธีการขยายกติกา โอกาสพัฒนาประชาธิปไตยก็มี อันนี้ไม่ได้เป็นทางเลือกทางเดียว ทางเลือกมันเกิดขึ้นได้แยะมาก มีหลายทาง ผมเดาไม่ถูก ว่าจะเลือกทางไหน
อาจารย์มองเรื่องการจ้างม็อบอย่างไร
คืออย่างนี้ ถ้าคุณจัดการชุมนุมอย่างนี้ไม่มีทุนนั้นเป็นไปไม่ได้หรอก ถามว่าทุนนี้มาจากไหน ผมว่ามาจากหลายส่วนด้วยกัน ผมอยู่เชียงใหม่ ผมได้ยินการโฆษณาเรี่ยไรหลายรูปแบบมากเลย ฉะนั้นมีเงินแน่ๆ มีเงินจากคนที่พร้อมจะจ่ายเป็นก้อนไหม มี ซึ่งบางคนก็ไม่ได้ปิดบัง บางคนก็เป็น ส.ส.ที่สอบตก เป็น ส.ส.ที่จะสมัครครั้งหน้า ผมเดินผ่านที่ชุมนุม เขาจ่ายกันเป็นแสนนะ ผมไม่ออกชื่อว่าเป็นนักการเมืองแถวภาคอีสาน ก็จ่ายเงินเป็นแสน แน่นอน ถามตรงๆ ว่า แล้วคุณทักษิณควักเท่าไร ผมไม่รู้ แต่เผื่อว่าคุณทักษิณจะเป็นผู้นำของกลุ่มคนเหล่านี้ที่จ่ายเป็นแสน แล้วบอกว่าผมไม่ควัก เป็นไปไม่ได้ ต้องควัก แต่ในความหมายจ้างคนมาทั้งหมด เป็นไปไม่ได้ มันมีการเรี่ยไรเงินกว้างขวางมากๆ
การว่าจ้างมาบางส่วน ทำให้ความชอบธรรมน้อยลงไหม
ในทรรศนะผม สังคมเห็นว่ามันลดลง ผมเห็นว่าไม่ คุณต้องเข้าใจนะ อย่ามองเงินเป็นเงื่อนไขหรือแรงจูงใจเพียงอย่างเดียว มนุษย์ทำอะไร นอกจากเงื่อนไขเงินแล้ว ผมคิดว่ามีอื่นๆ ด้วย ไอ้อื่นๆ นี่มันสำคัญมากกว่าเงิน จ้างคุณ 500 คุณไม่เห็นด้วยกับคุณทักษิณเลย เสื้อแดงเลย คุณก็ไม่ออกไปชุมนุม แต่ถ้าสมมติว่าคุณเห็นด้วย คุณก็ไปชุมนุมกับ 500 บาท แต่ถามว่าเพราะว่า 500 บาท โดยคุณไม่เห็นด้วยกับเสื้อแดงเลย ผมว่าไม่จริงหรอก มนุษย์เรามันมีแรงจูงใจในพฤติกรรมของเราสลับซับซ้อนกว่าปัจจัยหนึ่ง คุณอย่านึกว่ามันง่ายนะการชุมนุม ผมก็ไม่เคยเข้าไปร่วมไม่ว่าเสื้อสีอะไรก็แล้วแต่ ผมรู้ว่ามันยากลำบากมาก แล้วคนเราจนขนาดไหน ผมก็ไม่คิดว่าคนไปร่วมชุมนุมเพราะจนอย่างเดียว เราชอบมองอะไรง่ายๆ อย่างนี้ เหมือนคนขายเสียง นั่นเป็นปัจจัยหนึ่งในหลายๆ อัน ไม่ใช่ปัจจัยเดียว
ส่วนใหญ่คนที่มาคือต้องการโอกาสทางการเมือง
โอกาสไม่สำคัญเท่าสำนึก สำนึกว่าเขาถูกเบียดบัง เขาถูกกดขี่ เขาถูกกีดกัน ตอนนี้เขาไม่ยอมอีกแล้ว สำนึกอันนี้มันค่อยๆ เกิดขึ้น เมื่อ 10 ปีมาแล้ว
การโจมตีเรื่องสองมาตรฐานละ
ผมว่าต้องฝ่าสำนวนโวหารการชุมนุมออกไปบ้าง แม้แต่ คุณทักษิณเอง มีความหมายน้อยกว่าคุณทักษิณที่เป็นสัญลักษณ์ แท็กซี่หลายคนที่ผมนั่งคุยด้วย ยกย่องคุณทักษิณ ผมก็บอกว่าคุณทักษิณมีข้อไม่ดีอะไรบ้าง 2,500 ศพที่ตายไปในสงครามยาเสพติด ผมไม่เชื่อเป็นขาใหญ่ ผมว่าเป็นขาเล็ก และในจำนวนไม่รู้เท่าไรใน 2,500 หลักฐานไม่เพียงพอว่าเขาเกี่ยวข้องกับยาเสพติดอย่างไร แท็กซี่ก็ยอมรับ สองมาตรฐานที่สมัยคุณทักษิณก็ใช้ในหลายเรื่อง แท็กซี่ก็ยอมรับ ผมคิดว่าคุณทักษิณคือสัญลักษณ์ ที่เรียกคนได้ดี สัญลักษณ์ของยุคสมัยของอุดมคติ ทั้งๆ ที่เมื่อวิเคราะห์ให้ดีก็ไม่ได้ดีขนาดนั้น แต่สภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน สำหรับเขาจะต่อสู้สภาพที่มันเลวร้ายอย่างไร ก็ต่อสู้ด้วยการใช้สัญลักษณ์คุณทักษิณ ผมไม่ได้คิดว่าคนเหล่านี้คลั่งไคล้คุณทักษิณ เหมือนที่เขาแสดงออก หากคุณฟันฝ่าสิ่งเหล่านี้เข้าไป ผมคิดว่าน่าสนใจ ลึกๆ แล้วในโวหารทั้งในเวทีและนอกเวทีนี่ ว่าเขารู้สึกเจ็บปวดกับความเหลื่อมล้ำ เรียกตัวเองว่าไพร่ คำนี้น่าสนใจมากๆ เลยในภาษาไทย เพราะตอนสมัยผมเด็กๆ คำว่า ไพร่ แปลว่าคนไม่มีมารยาท ไพร่กับผู้ดี แต่ต่อมาความหมายเริ่มเหลื่อมไป เป็นการประชดคนที่มีอภิสิทธิ์ หมายถึงสามัญชนไม่มีอภิสิทธิ์ชน ดังนั้นคำว่าไพร่ หมายถึงฉันรู้สึกไม่พอใจกับสภาพเหลื่อมล้ำที่ฉันเป็นฝ่ายเสียเปรียบตลอดเวลา ผมว่าน่าสนใจ สิ่งนี้ ย้อนไป 30 ปี คนไม่รู้สึกนะ ฉันเป็นไพร่ ผมบอกว่าสำนึกสำคัญ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเปลี่ยนสำนึกคนด้วย ให้เข้าใจความรู้สึกของคนที่ชุมนุมด้วย
คำว่าอำมาตย์
ผมคิดว่าก็เป็นสัญลักษณ์ แม้แต่คนที่ถูกใช้เรียกว่าอำมาตย์ คนคนนั้นก็ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์เหมือนกัน ผมคิดว่าเขาหมายถึงตัวระบบมากกว่า แต่หากพูดแบบนี้ป่านนี้เขากลับบ้านหมดแล้ว คุณต้องพูดเป็นสำนวนที่คนเขาเข้าใจได้ง่าย สร้างศัตรูขึ้นมาเป็นรูปธรรม สร้างมิตรขึ้นมาให้เป็นรูปธรรม
คิดว่าประชาธิปัตย์มีอำมาตย์หนุนหลังไหม
ไม่ใช่ประชาธิปัตย์ รวมพรรคเพื่อไทยด้วย ทุกพรรค มีระบบการบริหารบ้านเมือง มีระบบการแบ่งสรรอำนาจที่ตายตัวอยู่ ผมถามง่ายๆ คุณมีนโยบายอะไรวะ ไม่มี คุณก็ไปเอาแผนสภาพัฒน์มาเขียนใหม่ ทุกพรรคก็ทำเหมือนกัน ถามว่าใครคือผู้บริหารประเทศ คือคนที่มีอำนาจกลุ่มหนึ่งที่มีการจัดสรรและแบ่งปันกันไว้เรียบร้อยแล้ว เมื่อไรที่นายกสมาคมธนาคารไทย ก็ตามส่งเสียงออกมา มันจะมีผลมากต่อการกำหนดนโยบายของรัฐ เพราะพรรคการเมืองไม่มีนโยบายอะไรเลย ใครส่งเสียงดังก็เอาคนนั้นเป็นหลัก ระบบอย่างนี้คือเรียกว่าอำมาตย์ คือไม่ฟังเสียงประชาชน แต่ฟังคนเสียงใหญ่
สองมาตรฐานในความหมายของอาจารย์
หากเราจะสังเกต ในเมืองไทยไม่ว่าจะเป็นระบบกฎหมาย อะไรต่ออะไร มันใช้ไม่เหมือนกันหรอก แท็กซี่กับรถเบนซ์ถูกจับ คุณคิดว่าต่างกันไหม สองมาตรฐานเกิดขึ้นตลอดเวลา
เรื่องคดียึดทรัพย์อาจารย์มองอย่างไร
เรื่องคดีผมไม่เป็นนักกฎหมาย แต่ในท่ามกลางสังคมที่เกิดสำนึกใหม่นี้ ไม่ประหลาดอะไรเลยที่คำพิพากษาจะถูกโจมตี ไม่ว่าจะเป็นการกระทำของรัฐ ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ ก็ถูกโจมตี เป็นของปกติ การพิสูจน์ว่าตัวเองจะปฏิบัติต่อทุกคนให้เสมอภาค ไม่ใช่แค่พูดนะ มันต้องทำ ซึ่งทำยากในสภาพสังคมที่เหลื่อมล้ำสูง หากไม่เกิดสำนึกการเมืองก็ไม่เป็นไร แต่หากมีสำนึกการเมืองเข้ามาแล้วและความเหลื่อมล้ำก็ยังอยู่ ไม่ว่าคุณจะทำอะไรว่าสองมาตรฐาน เป็นการเลือกปฏิบัติ
เหตุการณ์ไม่เปลี่ยน แต่สำนึกคนเปลี่ยน
ใช่ ของคนเปลี่ยน
แล้วจะแก้ยังไง
สำนึกมันสำคัญมากนะคุณ ถ้าสำนึกเปลี่ยน สิ่งที่คุณเคยทำมาเป็นปกติ มันทำไม่ได้อีกต่อไป กรณีเขายายเที่ยงน่าสนใจ คนขนาดคุณสุรยุทธ์ โอเค ไม่ติดคุก อัยการเห็นว่าไม่มีเจตนา แต่หากย้อนกลับไปดีๆ ในสังคมไทย ที่คนระดับนั้นต้องบอกว่าคืนทรัพย์ เป็นกรณีที่ไม่เกิดขึ้นง่ายๆ ในสังคมไทย เราสามารถลูบหน้าปะจมูกได้ในเรื่องเล็กกว่านี้ แต่นี่ ลูบไม่ได้ สังคมไทยที่ไม่ลูบหน้าปะจมูกได้ ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ นะ
แล้วส่งผลอะไร
ทั้งระบบเลย ทำให้เสียงคนจำนวนมาก สามารถทำให้ระบบลูบหน้าปะจมูกทำได้ไม่ดีเหมือนที่เคยเป็นมา ตอนนี้ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร อย่าคิดว่ามันจะเหมือนที่เคยเป็นมา


PA704 สึนามิ ส่วนที่ 7 ส่วนเกี่ยวกับกิจกรรม



ส่วนที่ 7  เป็นส่วนที่เกี่ยวกับกิจกรรม


สมิทธ-โสรัจจะ 'ฟันธง 
กลางปีเกิด  สึนามิ  โดนไทยเต็มๆ


อดีตผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติ แห่งชาติ กับ โหรชื่อดังฉายา นอสตราดามุสเมืองไทยทำนายตรงกัน กลางปีนี้ประเทศไทยเจอสึนามิถล่มหนักแน่ๆ
หลังจากเป็นที่ฮือฮากับรายงานข่าวจากต่างประเทศ เมื่อคณะผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยาจากประเทศไอร์แลนด์เหนือ
นำโดย ศาสตราจารย์จอห์น แมคคลอสคีย์ สถาบันวิจัยนิเวศวิทยาแห่งมหาวิยาลัยอัลส์เตอร์ ไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งเป็นกลุ่มนักวิชาการที่ขึ้นชื่อว่าทำนายเหตุการณ์สึนามิได้แม่นยำมากที่สุด ได้ส่งจดหมายเตือนภัยว่าอาจจะเกิดคลื่นยักษ์ที่เป็นผลมาจากแผ่นดินไหวถล่มชายฝั่งเกาะสุมาตราในอนาคตอันใกล้
คำเตือนที่ว่านั้นยิ่งสร้างความสะพรึงกลัวให้กับคนไทย เมื่อมันมาตรงกับคำทำนายของนักวิชาการและโหราศาสตร์ชื่อดังก่อนหน้านี้ ที่ว่าสึนามิจะเกิดขึ้นในอีกไม่ช้า ที่สำคัญประเทศไทยจะได้รับความเสียหายมากมายกว่าสึนามิเมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2547
ผู้สื่อข่าวไทยรัฐออนไลน์สอบถามไปยัง ดร.สมิทธ ธรรมสโรช อดีตผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ผู้ที่เคยทำนายว่าประเทศไทยจะเกิดสึนามิครั้งใหญ่อีกครั้งในอนาคตอันใกล้ โดยเขาเห็นด้วยกับคำเตือนของศาสตราจารย์สถาบันวิจัยนิเวศวิทยาแห่งมหาวิยาลัยอัลส์เตอร์ ไอร์แลนด์เหนือ และว่าถ้าเกิดสึนามิครั้งนี้ ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบผู้คนจะล้มหายตายจากมากมายกว่าครั้งที่แล้วมาก
ปี ที่แล้วผมมีโอกาสเข้าไปร่วมประชุมกับนักวิจัยญี่ปุ่น ซึ่งเขาก็พูดถึงเรื่องของศาสตราจารย์จอห์น แมคคลอสคีย์ ออกมาบอกว่าอีกไม่นานจะเกิดสึนามิอีกครั้ง ในส่วนประเทศไทย จะได้รับผลกระทบมากๆ เพราะว่ารอยเลื่อนแผ่นดินที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2547 มันเลื่อนแค่เศษ 1 ส่วน 4 เท่านั้น ดังนั้นจะเหลืออีกเศษ 3 ส่วน 4 ที่ยังไม่เกิด ซึ่งแผ่นดินมันค่อยๆ เลื่อนขึ้นมาทางเหนือระหว่างเกาะนิโคบาและเกาะอันดามัน โดยการเลื่อนในครั้งนี้มันจะเขยิบเข้ามาใกล้กับชายฝั่งของประเทศไทยมากขึ้นจากครั้งที่แล้ว

ดร.สมิทธ กล่าวต่อว่า ครั้งนี้ไม่จำเป็นต้อง 9 ริกเตอร์เหมือนกับครั้งที่แล้ว เรียกว่าขอให้เกิดสึนามิขึ้นเมื่อใด ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบมหาศาล
คำนวณ ง่ายๆ ว่าสึนามิครั้งที่แล้วมันไกลจาก 6 จังหวัดภาคใต้ถึง 1,200 กิโลเมตร แต่รอยเลื่อนอีกเศษ 3 ส่วน 4 มันอยู่ใกล้ประเทศไทยเพียง 300-400 กิโลเมตา ดังนั้นถ้าเกิดสึนามิขึ้นไม่ว่าจะกี่ริกเตอร์ ประเทศไทยจะได้รับความเสียหายมากกว่าครั้งที่แล้วแน่นอน
ถามว่าจังหวัดไหนบ้างที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด ดร.สมิทธ? กล่าวว่า คงไม่พ้น 6 จังหวัดที่โดนสึนามิครั้งที่แล้วถล่ม
ที่ น่ากลัวที่สุดก็ไล่ไปตั้งแต่ จ.ระนอง, พังงา, ภูเก็ต, กระบี่, ตรัง และสตูล และเรื่อยลงไปอีกซึ่งมันจะกินพื้นที่มากๆ อย่างไรก็ดี สิ่งที่ผมกล่าวมาทั้งหมดปัจจัยหลักก็ต้องดูจุดเกิดสึนามิที่แน่นอนอีกที ซึ่งไม่มีใครพยากรณ์ได้ตรงเป๊ะๆ แต่รวมๆ แล้ว 6 จังหวัดที่ว่าโดนผลกระทบมหาศาลมากๆ ถ้าไม่เฝ้าระวัง ซึ่งเรื่องนี้ในการประชุมเรื่องสึนามิที่ประเทศไทยเมื่อปีที่แล้วเราพูดกันเยอะ แต่ก็เขาก็ไม่ได้บอกชัดเรื่องเกี่ยวกับประเทศไทย ระบุแต่ถ้าเกิดสึนามิอีกครั้ง ตั้งแต่พม่าโดนหมด อย่างแผ่นดินไหวที่เฮติในครั้งนี้ บางคนก็พยากรณ์ว่าอีกนานจะเกิด 10-100 ปี แต่ผมเชื่อว่ามันพยากรณ์ไม่ได้ อยู่ๆ มันเกิดตูมขึ้นมา ภายใน 1-5 ปีนับจากนี้อาจไม่เกิดก็ได้ หรืออาจจะเกิดพรุ่งนี้ก็ได้ ไม่มีใครพยากรณ์ได้ ประเทศไทยก็เหมือนกัน แต่เราก็ทำได้แค่ระวังตัว
สำหรับวิธีป้องกัน อดีตผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กล่าวว่า ประเทศไทยก็ต้องมีระบบเตือนภัยที่ดี
ซึ่ง อาจจะช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบา ซึ่งเห็นคนในพื้นที่บอกว่า ทุ่นเตือนภัยก็แบตฯ หมด หอเตือนภัยก็ใช้การได้ไม่หมด ทั้งนี้ ตนคงพูดอะไรไม่ได้มาก เพราะโดนรัฐฟ้องอยู่ข้อหาหมิ่นประมาท สิ่งที่ผมทำได้ก็คือ ปัจจุบันผมทำมูลนิธิเตือนภัยโดยไม่หวังกำไรทำงานคู่ขนานไปกับศูนย์เตือนภัย พิบัติแห่งชาติของรัฐ โดยมูลนิธิเรามีหน้าที่เตือนภัยทำเหมือนกับศูนย์เตือนภัยพิบัติทุกๆ อย่าง โดยเรามีเครือข่ายจากลูกทุ่งเน็ตเวิร์คกระจายเสียงทั้งหมด 81 สถานี ทั้งเอฟเอ็ม เอเอ็มทั่วประเทศที่จะติดตามความเหตุการณ์พร้อมกับเตือนภัยได้ 24 ชั่วโมง โดยมีสถานีวิทยุให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายสนุนค่าใช้จ่าย
สุดท้าย ดร.สมิทธ ฝากไปถึงประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยว่า มูลนิธิจะพยายามเตือนให้ทราบล่วงหน้าว่า ภัยธรรมชาติชนิดไหนจะเกิดขึ้นที่ไหน เราจะทำให้ดีที่สุดขอให้ติดตามรับฟังเครือข่ายและสถานีวิทยุของเรา โดยสามารถสอบถามและแจ้งเหตุได้ที่ โทร.0-2888-2215 ได้ 24 ชั่วโมง

ด้านโหรชื่อดัง นายโสรัจจะ นวลอยู่ ฉายานอสตราดามุสเมืองไทย ผู้ที่เคยทำนายประเทศไทยจะเกิดสึนามิใหญ่ อีกทั้งยังฟันธงอีกว่า กลางปีนี้ประเทศไทยจะมีสึนามิอีกครั้ง กล่าวว่า
ตามดวง ดาวจริงแล้วมีเกณฑ์กลางปีนี้ 100% ซึ่งผมดูจากดวงดาวแล้ว กลางปีนี้ค่อนข้างจะน่าเป็นห่วงมากๆ เพราะว่าดาวที่สำคัญอย่าง ดาวเสาร์ อยู่ในภพอริของดวงเมือง อีกทั้งราหูมาอยู่ในภพที่ 9 ซึ่งตรงนี้มีผล มากๆ คือดาวสองดวงนี้ทำมุมกัน แล้วดาวพฤหัสก็เกี่ยวกับน้ำ พฤหัสอยู่ในตำแหน่งที่ไม่ค่อยดี อย่างไรก็ดี ผมก็คิดว่าเป็นไปได้ว่าประเทศไทยมีโอกาสใกล้เคียงจะเกิดทั้งแผ่นดินไหวแล้วก็เกิดสึนามิด้วย โดยเฉพาะชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมชายฝั่ง หรือแถบอันดามันตั้งแต่ระนองลงไปอันตรายมากๆ
เมื่อถามถึงวิธีป้องกัน โหรชื่อดังกล่าวว่า เป็นเรื่องที่ยากมากๆ เพราะว่ามันเป็นกฎแห่งดวงดาว ที่มาบรรจบกับภัยธรรมชาติ
สิ่งที่เตือนได้นอกจากการทำบุญแล้ว ผมอยากให้ภาครัฐใส่ใจตรวจสอบเครื่องเตือนภัยต่างๆ ให้สมบูรณ์แบบ ส่วนประชาชนก็ต้องคอยระมัดระวังฟังศูนย์เตือนภัย ซึ่งอาจจะทำให้เหตุการณ์ที่หนักหนาสาหัสในกลางปีนี้ทุเลาลงไปได้นายโสรัจจะกล่าว.
ที่มา นสพ. ไทยรัฐ  18 มกราคม 2553

สมิทธ ธรรมสโรช   ทำนาย "สึนามิ" ที่ถูกเมิน

จำเลยของโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ "สึนามิ" ที่ถล่มชายทะเลใต้ฝั่งอันดามัน คร่าชีวิตผู้คนมโหฬาร สร้างความเสียหายใหญ่หลวงในทุกด้าน ครั้งนี้ คือ "การเตือนภัย"
          "ไม่มีใครรู้มาก่อน" ซึ่งมาพร้อมกับคำว่า "อย่าไปโทษใคร"
          จริงหรือที่ว่าไม่มีใครรู้  จากการประมวลจากข่าวทั้งหมด เมื่อเกิดแผ่นดินไหวในทะเล ใกล้เกาะสุมาตรา อินโดนีเซีย เช้าวันที่ 26 ธันวาคม 2547
          เจ้าหน้าที่ระดับสูงของศูนย์วัดแผ่นดินไหว แคนเบอร์รา ออสเตรเลีย ได้สัญญาณจากเครื่องวัด ที่เขาติดไว้ที่บ้าน ตรวจสอบแล้วประเมินว่า อาจจะเกิด "สึนามิ"
          ภายใน 30 นาที จากนั้น เขาได้ส่งสัญญาณเตือนภัยไปยังรัฐบาลต่างๆ และสถานทูตออสเตรเลีย ทุกแห่งที่สัญญาณของเขาไปถึงได้
          ทว่ารัฐบาลไทยของเรา หรืออีกหลายประเทศ คงไม่มีเครื่องมือรับสัญญาณนี้
          ไม่มี เพราะ "สึนามิ" ไม่เคยอยู่ในความกังวลของหน่วยงาน
          ที่ไม่กังวล เพราะเราไม่เพียงไม่เชื่อว่าแผ่นดินไทย จะเกิดคลื่น "สึนามิ" เรายังต่อต้านคนที่เชื่อ
          "สมิธ ธรรมสโรช" คือ คนที่ในวันนี้ เราเสียดายความเชื่อของเขาเมื่อ 6 ปีก่อน
          กลางดึกวันที่ 17 กรกฎาคตม 2541 เกิดแผ่นดินไหวนอกชายฝั่งปาปัวนิวกินี ส่งผลให้เกิดคลื่นยักษ์ "สึนามิ" 3 ลูกซ้อน ถล่มชายฝั่ง กวาดบ้านเรือนและชีวิตผู้คนไป 4,000 คน
          วันที่ 12 สิงหาคม 2541 นายสมิทธ ธรรมสโรช ตอนนั้นย้ายจากอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา มาเป็นรองปลัดกระทรวงคมนาคมแล้ว ได้ออกประกาศเตือนว่า ให้คนไทยระวัง "สึนามิ" โดยเฉพาะชายฝั่งทะเลอันดามัน ซึ่งจะมีความรุนแรงมากกว่าปาปัวนิวกินี้ เป็น 100 เท่า
          ไม่เพียงระบุช่วงเวลาไว้ด้วยซ้ำว่า อาจจะเกิดขึ้นระหว่าง ปี 2537 - 2547 แต่ยังแนะวิธีปฏิบัติ ไว้เรียบร้อย เรียกว่าข้อบัญญัติบรรเทาสาธารณภัย 10 ประการ คือ

          1. สังเกตปรากฏการณ์ของชายฝั่ง หากน้ำทะเลลดระดับลงมาก หลังเกิดแผ่นดินไหว ให้สันนิษฐานว่า อาจเกิดคลื่นสึนามิตามมาได้ ให้รีบอพยพคนในครอบครัว สัตว์เลี้ยง ให้อยู่ห่างจากชายฝั่งมากๆ และอยู่ในที่ดอนหรือที่สูง น้ำท่วมไม่ถึง
          2. ถ้าอยู่ในเรือซึ่งจอดอยู่ที่ท่าเรือหรืออ่าว ให้รีบนำเรือออกไปกลางทะเล เมื่อทราบว่า จะเกิดคลื่นสึนามิพัดเข้าหา เพราะคลื่นสึนามิที่อยู่ไกลชายฝั่งมากๆ จะมีขนาดเล็ก
          3. คลื่นสึนามิอาจเกิดขึ้นได้หลายระลอก จากการเกิดแผ่นดินไหวครั้งเดียว เนื่องจากการแกว่งไปแกว่งของน้ำทะเล ดังนั้น ควรรอสักระยะหนึ่ง จึงจะสามารถลงไปชายหาดได้
          4. ติดตามการเสนอข่าวอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง
          5. ในบริเวณย่านที่มีความเสี่ยงภัยที่จะเจอคลื่นสึนามิ หากที่พักอาศัยอยู่ใกล้ชายหาด ควรจัดทำเขื่อน กำแพง ปลูกต้นไม้ วางวัสดุ เพื่อลดแรงปะทะของน้ำทะเล และก่อสร้างที่พักอาศัย ให้มั่นคงแข็งแรง
          6. วางแผนในการฝึกซ้อมรับภัยจากคลื่นสึนามิ เช่น กำหนดสถานที่ในการอพยพ แหล่งสะสมน้ำสะอาด เป็นต้น
          7. ในย่านที่มีความเสี่ยงภัยที่จะเจอคลื่นสึนามิ ให้หลีกเลี่ยงการก่อสร้างใกล้ชายฝั่ง
          8. จัดวางผังเมืองให้เหมาะสม บริเวณแหล่งที่อาศัย ควรมีระยะห่างจากฝั่ง
          9. ประชาสัมพันธ์และให้ความรู้แก่ประชาชน ในเรื่องการป้องกันและบรรเทาภัย จากคลื่นสึนามิ และแผ่นดินไหว
        10. วางแผนล่วงหน้า หากเกิดสถานการณ์ขึ้นจริง ในเรื่องการประสานงานระหว่างหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง กำหนดขั้นตอนในด้านการช่วยเหลือบรรเทาภัย ด้านสาธารณสุข การรื้อถอน และฟื้นฟูสิ่งก่อสร้าง
          ทว่าทันทีที่คำเตือนนั้นออกมา กลับถูกทุกฝ่ายมองว่า เป็นเรื่องตลก
          ในแวดวงธุรกิจท่องเที่ยว ด่ากันขรม ว่าเป็นพวกทำลายการท่องเที่ยว ถึงขนาดเรียกร้อง ให้จัดการกับนายสมิทธ
          ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตขณะนั้น ห้ามนายสมิทธ เข้าจังหวัด
          กระทั่งกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งเขาเคยเป็นอธิบดี ยังออกมาแถลงโต้ ว่าไม่เคยพบสัญญาณที่จะเกิด "สึนามิ" ที่ชายฝั่งอันดามัน
          แถมกระทรวงมหาดไทยยังอวดโอ้ว่า มีแผนรับเหตุการณ์มาตั้งแต่ปี 2536
          "สมิทธ ธรรมสโรช" ถูกตราหน้าว่าทำรายได้จากการท่องเที่ยว เสียหาย
          แล้วมหันตภัย "สึนามิ" ก็เกิดขึ้นจริงตามคำทำนาย สร้างความโศกสลดไปทั่วทั้งแผ่นดิน
          หากลองย้อนกลับไป รัฐบาลหรือหน่วยงานรัฐขณะนั้น สร้างระบบป้องกันตามข้อบัญญัติ 10 ประการที่ว่ามา
          ผู้คนจะบาดเจ็บ ล้มตาย ทรัพย์สิน จะเสียหายกันมากมายขนาดนี้หรือ
          ที่สำคัญเราจะเผชิญกับ "มหันตภัย" โดยไร้ความรู้ในทุกด้านอย่างที่เผชิญกันหรือ
การ์ตอง  (ที่มา มติชนรายวัน ประจำวันอาทิตย์ที่ 2 มกราคม 2548)





PA704 : ชุดสิ่งแวดล้อม (ต่อ) ส่วนที่ 6 ชุดที่ 1


ส่วนที่ 6  ชุดที่ 1  ชุดสิ่งแวดล้อม 
ปัญหาสิ่งแวดล้อม ในภาคต่างๆ
 ของ ประเทศไทย
1.  ปัญหาสิ่งแวดล้อม และแนวทางแก้ไขปัญหาใน ภาคเหนือ

           สาเหตุเกิดจากการทำไร่เลื่อนลอยของชาวเขาเผ่าต่างๆ และบุกรุกพื้นที่ป่าสงวน การตัดไม้ทำลายป่าทำให้ดินเกิดการพังทลาย และไม่มีความอุดมสมบูรณ์และทำให้แม่น้ำลำธารตื้นเขิน
           แนวทางแก้ไข
1.      ป้องกัน ควบคุมการตัดไม้ทำลายป่า
2.      ขยายเขตพื้นที่ป่าสงวน ป่าอนุรักษ์และรักษาพันธุ์สัตว์ป่า
3.      ให้การศึกษาแก่ประชาชนในความสำคัญของป่าไม้ตลอดจนวิธีการอนุรักษ์ป่าไม้
4.      ส่งเสริมการปลูกป่าเพื่อทดแทนป่าที่ถูกทำลายไป
5.      เร่งทำแผนอพยพชุมชนและคนออกจากพื้นที่ป่าอนุรักษ์
6.      ปฏิเสธการรับรอง “สิทธิชุมชน” ในการตั้งถิ่นฐานในผืนป่า
ปัญหาการพังทลายของดิน
           สาเหตุเกิดจากการตัดไม้ทำลายป่าของภาคเหนือมีสูงถึง ร้อยละ 60 ของภาค และยังเป็นพื้นที่ราบสูงทำให้ปัญหาการพังทลายของดินมีมาก
           แนวทางแก้ไข
1.      ส่งเสริม และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
2.      แย่งพื้นที่การใช้ดินให้เหมาะสม
3.      มีมาตรการควบคุมการตัดไม้ทำลายป่า
4.      ส่งเสริมการปลูกพืชแบบขั้นบันได การปลูกพืชคลุมดิน การปลูกพืชสลับแถว
ปัญหาการขยายตัวของสังคมเมือง
           สาเหตุเกิดจากการขยายตัวของชุมชนเมืองมากขึ้น ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ ปัญหาขยะมูลฝอย ปัญหาชุมชนแออัด ปัญหายาเสพติด ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ เป็นต้น
          แนวทางแก้ไข
1.      ส่งเสริมและฝึกอาชีพต่างๆ แก่ประชาชน
2.      ให้การศึกษาที่สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น เช่น โครงการพัฒนาชาวไทยภูเขา
3.      ปราบปรามและลงโทษผู้ค้ายาเสพติดอย่างเด็ดขาด
4.      พัฒนาคนให้มีจิตสำนึกในการรักผิดชอบร่วมกัน
ปัญหาการขาดแคลนที่ดินทำกิน
           เนื่องจากภาคเหนือเป็นที่ราบสูงสลับกับภูเขา ทำให้ขาดที่ดินในการประกอบอาชีพเกษตร
           แนวทางแก้ไข
1.      ปรับปรุงคุณภาพของดินให้สามารถใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด
2.      ให้ความรู้ด้านการเกษตรแก่เกษตรกรในการใช้ประโยชน์จากที่ดินของตน


2. ปัญหาสิ่งแวดล้อม และแนวทางแก้ไขใน ภาคกลาง
ปัญหาการใช้ที่ดิน
1.      ใช้ที่ดินไม่เหมาะสมกับสภาพของดิน
2.      มีการเพาะปลูกไม่เหมาะสมกับสภาพของดิน
3.      มีการปลูกพืชที่ทำลายความอุดมสมบูรณ์ของดิน
4.      เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน
           แนวทางแก้ไข
1.      หลีกเลี่ยงการขยายเมืองในพื้นที่ ที่ใช้ในการทำเกษตร
2.      ปลูกพืชให้เหมาะสมกับสภาพดิน
3.      ให้ความรู้แก่เกษตรกรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต
4.      จัดให้มีการปฏิรูปที่ดิน ในการปรับปรุงและสิทธิในการถือครองที่ดิน
ปัญหาเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำ
           ภาคกลางอยู่ในเขตเงาฝน ปริมาณน้ำฝนที่ใช้ในการเกษตรไม่เพียงพอจึงเกิดปัญหา การขาดแคลนน้ำ
           แนวทางแก้ไข
1.      พัฒนาการชลประทานให้กระจายไปทั่วทุกพื้นที่
2.      พัฒนาแหล่งน้ำที่ตื้นเขินให้สามารถเก็บกักน้ำได้
3.      ไม่ทิ้งขยะมูลฝอยลงในแม่น้ำลำคลองที่ก่อให้เกิดปัญหาแหล่งน้ำตื้นเขิน
ปัญหาการหนุนของน้ำทะเล
           เนื่องจากภาคกลางเป็นพื้นที่ราบลุ่ม จึงเกิดปัญหาน้ำทะเลหนุนขึ้น ก่อให้เกิดความเสียหายแก่พืชผล และการเกษตร
           แนวทางแก้ไข
1.      กรมชลประทานได้ช่วยขุดคลองส่งน้ำเลี้ยงต้นไม้ในฤดูแล้ว เพื่อช่วยให้ความเข้มข้นของน้ำทะเลลดลง
2.      สร้างเขื่อนกั้นน้ำทะเลในระยะที่น้ำทะเลหนุน ปัญหาการทำลายป่าห้วยขาแข้ง

3. ปัญหาสิ่งแวดล้อม และแนวทางแก้ไขใน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ปัญหาเกี่ยวกับการพังทลายของดิน
1.      ลักษณะภูมิประเทศเป็นพื้นที่ลาดเอียง ก่อให้เกิดการพังทลายของดินได้ง่าย
2.      ความรุนแรงของลักษณะภูมิอากาศ เช่น แห้งแล้งมาก ร้อนมาก หรือมีน้ำหลากในช่วงเกิดพายุดีเปรสชัน ก่อให้เกิดการพังทลายของดิน
3.      ลักษณะเนื้อดินเป็นหินทราบน้ำซึมผ่านได้ง่าย จึงเกิดการพังทลายได้
4.      ขาดพืชปกคลุมดิน เนื่องจากไม่มีป่าไม้เหลืออยู่
           แนวทางแก้ไข
1.      ควบคุมและป้องกันการตัดไม้ทำลายป่า
2.      ห้ามการเพาะปลูกพืชผิดวิธี
3.      ควรปลูกพืชแบบวิธีขั้นบันไดในบริเวณที่มีพื้นที่ลาดเอียง
4.      ควรปลูกพืชคลุมดินบริเวณที่มีการพังทลายของดิน
5.      ควรสร้างเขื่อนขนาดเล็กเพื่อคั่นร่องน้ำให้เก็บกับน้ำไว้
ปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ว
           ภาคตะวันออกเฉียงเหนือขาดแคลนน้ำมากในช่วงฤดูแล้ง เนื่องจากพื้นดินเป็นดินปนทราย และมีพื้นที่ลาดเอียงทำให้น้ำซึมอย่างรวดเร็ว และไหลลงสู่แม่น้ำลำธารอย่างรวดเร็ว รวมทั้งการพังทลายของดินทำให้แหล่งน้ำตื้นเขิน
           แนวทางแก้ไข
1.      ควบคุมและป้องกันการทำลายแหล่งน้ำธรรมชาติ
2.      สร้างเขื่อนเก็บกักน้ำ หรือฝาย
3.      ปรับปรุงแหล่งน้ำธรรมชาติให้สามารถรองรับปริมาณน้ำได้มากที่สุด
4.      ขุดเจาะบ่อบาดาลเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำให้เพียงพอกับความต้องการของประชาชน
5.      ควบคุมและป้องกันการตัดไม้ทำลายป่าในต้นน้ำลำธาร
6.      สร้างถังน้ำคอนกรีตสำหรับหมู่บ้านเพื่อเก็บน้ำฝนไว้ใช้
7.      ให้ความรู้แก่ประชาชนในการอนุรักษ์แหล่งน้ำ
ปัญหาการบุกรุกทำลายป่า
           ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีพื้นที่ป่าไม้น้อยมาก เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของประชากร การกระจายตัวของประชากร และการเพราะปลูกที่ผิดหลัก จนเป็นเหตุให้เกิดการอพยพย้ายถิ่นเพื่อแสวงหาถิ่นทำกิน
           แนวทางแก้ไข
1.      ให้ความรู้เกี่ยวกับความสำคัญของป่าไม้
2.      ส่งเสริมการปลูกป่าทดแทนและปรับปรุงต้นน้ำลำธาร
3.      ร่วมมือกับกรมป่าไม้ในการอนุรักษ์และรักษาป่าไม้
4.      ช่วยกันรักษาป่าธรรมชาติบริเวณต้นน้ำลำธาร
ปัญหาการเติบโตของชุมชนเมือง
           ชุมชนเมืองใหญ่ๆ เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น อุดรธานี นครราชสีมา เป็นต้น ก่อให้เกิดปัญหาชุมชนแออัด ปัญหาขยะมูลฝอยตามมามากขึ้น
           แนวทางแก้ไข
           ควรวางแผนและมีมาตรการในการจัดระเบียบการวางผังเมือง และเขตอุตสาหกรรมให้ถูกต้องและสามารถควบคุมได้


4. ปัญหาสิ่งแวดล้อม และแนวทางแก้ไขใน ภาคตะวันออก
ปัญหาการพังทลายของดิน
           สาเหตุเกิดจากการตัดไม้ทำลายป่า และการปลูกพืชที่ก่อให้เกิดดินเสื่อมคุณภาพขาดความอุดมสมบูรณ์ เช่น มันสำปะหลัง อ้อย เป็นต้น
           แนวทางแก้ไข
1.      ให้ความรู้ในการรักษาป่า และการสงวนป่าที่เป็นต้นน้ำ
2.      ปลูกป่าทดแทนในบริเวณที่เคยเป็นป่าไม้
3.      เลิกการเพาะปลูกแบบทำไร่เลื่อนลอย
4.      ส่งเสริมการปลูกพืชที่ช่วยให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์
5.      ควรป้องกันและรักษาป่าธรรมชาติ
ปัญหาการบุกรุกทำลายป่าไม้ และป่าชายเลน
           จังหวัดที่มีพื้นที่ติดต่อกับชายฝั่งทะเล 5 จังหวัด เพื่อใช้ปลูกพืชไร่
           แนวทางแก้ไข
           ควรกำหนดพื้นที่ในการเพราะปลูกให้แน่นอน และกำหนดพื้นที่เพื่อการอนุรักษ์ และป้องกันการบุกรุกทำลายป่า
ปัญหามลพิษบริเวณชายฝั่งทะเล
           ภาคตะวันออกเป็นเขตพื้นที่อุตสาหกรรมอิสเทิร์นซีบอร์ด  ทำให้มีการปล่อยน้ำเสีย และกากสารพิษลงสู่ทะเล
           แนวทางแก้ไข
           ควรควบคุมโรงงานอุตสาหกรรมให้มีการจัดระบบการบำบัดน้ำเสีย และกากสารพิษให้เคร่งครัด
ปัญหาการขาดแคลนน้ำจืด
           สำหรับอุปโภคบริโภค และการเกษตร ในบริเวณที่ราบชายฝั่งทะเลในช่วงฤดูแล้ง
           แนวทางแก้ไข
           ควรมีการสร้างเขื่อน หรืออ่างเก็บน้ำ และพัฒนาแหล่งน้ำให้สามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้ได้ตลอดฤดู และไม่ควรตัดไม้ลำลายป่า
ปัญหาการรับเอาวัฒนธรรมกระแสใหม่
           ภาคตะวันออก กำลังพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจด้วนอุตสาหกรรมด้านต่างๆ ก่อให้การดำเนินชีวิตของประชาชนเปลี่ยนแปลงไป เช่น การแต่งกาย การใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือย
           แนวทางการแก้ไข
           ให้ความรู้และปลูกฝังค่านิยมที่ถูกต้อง ตลอดจนการอนุรักษ์วัฒนธรรมต่างๆ ของไทยให้เป็นเอกลักษณ์ของชาติต่อไป
ปัญหาชายแดนและความมั่นคงของชาติ
           ภาคตะวันออกมีพื้นที่ติดต่อกับชายแดนของประเทศกัมพูชา จึงเกิดปัญหาเกี่ยวกับการอพยพของผู้ลี้ภัย ปัญหาการล่วงล้ำอธิปไตย ปัญหาการลักลอบขนสินค้าและอาวุธ ซึ่งเป็นปัญหาที่มีผลต่อความมั่นคงของชาติเป็นอย่างยิ่ง
           แนวทางแก้ไข
1.      หามาตรการในการป้องกันชายแดนให้เข้มงวดขึ้น
2.      ผลักดันให้มีผู้ลี้ภัยออกจากประเทศ โดยร่วมมือกับองค์การสหประชาชาติ

5. ปัญหาสิ่งแวดล้อม และแนวทางแก้ไขใน ภาคตะวันตก
ปัญหาการพังทลายของดิน
           ภาคตะวันตกเป็นเขตภูเขา มักจะมีปัญหาการพังทลายของดินอย่างรุนแรง เนื่องจากการถางป่า เพื่อเพาะปลูกแบบไร่เลื่อนลอย ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ ก่อให้เกิดความแห้งแล้งหรือน้ำท่วมในฤดูน้ำหลากได้ง่าย
           แนวทางแก้ไข
1.      ส่งเสริมการปลูกป่าเพื่อรักษาต้นน้ำลำธาร
2.      ควรมีการพัฒนาแหล่งน้ำโดยการชลประทาน
ปัญหาการขาดแคลนน้ำ
           ภาคตะวันตกอยู่ในพื้นที่เขตเงาฝน หรือ อับฝน จึงก่อให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำ ทั้งในด้านอุปโภคและบริโภค และการเกษตรของประชากรในภาคนี้
           แนวทางแก้ไข
1.      ส่งเสริมการปลูกป่า และอนุรักษ์ป่าไม้ ตลอดจนมีการลงโทษผู้กระทำผิดในการบุกรุกตัดไม้ทำลายป่า
2.      ควรพัฒนาแหล่งน้ำโดยการสร้างเขื่อน ฝายและอ่างเก็บน้ำเพื่อเก็บกักน้ำ
ปัญหาการบุกรุกทำลายป่าไม้
           พื้นที่ ที่เกิดปัญหามากที่สุดคือ บริเวณทุ่งใหญ่นเรศวร และเขื่อนน้ำโจม ที่มักจะพบปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า มากที่สุด
           แนวทางแก้ไข
           ให้ความรู้ และความเข้าใจแก่ประชาชนในท้องถิ่น ในการมีส่วนร่วมอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้
ปัญหาน้ำทะเล ทะลักเข้าพื้นที่
           แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำเพชรบุรี ในช่วงฤดูฝนจะมีปัญหาน้ำทะเลหนุนเข้าพื้นที่การเพาะปลูกการเกษตร พืช สวนมาก ทำให้เกิดความเสียหายเป็นจำนวนมาก
           แนวทางแก้ไข
           สร้างทำนบกั้นไม่ให้น้ำเค็มไหลเข้าพื้นที่
ปัญหาน้ำเน่าเสีย ของแม่น้ำแม่กลอง
           แนวทางแก้ไข
           ควรควบคุม และป้องกันไม่ให้โรงงานอุตสาหกรรมปล่อยน้ำเสียลงสู่แม่น้ำและช่วยกันฟื้นฟูลำน้ำระหว่างชุมชน กับวัด
ปัญหาสารพิษตกค้าง จังหวัด กาญจนบุรี
           แนวทางแก้ไข
           ควรจัดให้มีมาตรการควบคุมการกำจัดสารพิษอย่างถูกต้อง และ เคร่งครัดในจังหวัดกาญจนบุรี

6. ปัญหาสิ่งแวดล้อม และแนวทางแก้ไขใน ภาคใต้
ปัญหาการสูญเสียป่าชายเลน
           เป็นปัญหาที่เกิดจากการขยายตัวของเกษตรกร นากุ้ง และการประมงชายฝั่ง
           แนวทางแก้ไข
           ควรร่วมมือกันฟื้นฟูสภาพชายฝั่งทะเล
ปัญหาความขัดแย้งของเกษตรกร นากุ้ง และ นาข้าว
           แนวทางแก้ไข
           ควรแบ่งพื้นที่ทำการ และ สร้างระบบกั้นน้ำเค็มระหว่างเกษตรกรนากุ้ง และนาข้าวให้แยกจากกัน
ปัญหาดินเค็ม
           ภาคใต้มีพื้นที่ติดชายฝั่งทะเลทั้ง 2 ด้าน จึงเกิดปัญหาน้ำทะเลท่วมขังเป็นจำนวนมาก
           แนวทางแก้ไข
           ควรมีระบบการระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขังและควรสร้างประตูบังคับน้ำปิดกั้นไม่ให้น้ำทะเลไหลเข้า
ปัญหาอันตรายจากพายุ
           เนื่องจากภาคใต้ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมทะเลจีนใต้และลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ทำให้เกิดพายุและดีเปรสชัน ลักษณะภูมิประเทศเป็นคาบสมุทรแคบๆ ยื่นไปในทะเลจึงทำให้เกิดอันตรายจากพายุได้ง่าย
           แนวทางแก้ไข
           ควรให้ความรู้และความเข้าใจในการอนุรักษ์พื้นที่ป่าไม้ และไม่ควรตัดไม้ทำลายป่า
ปัญหาการอพยพเข้ามาของแรงงานชาวพม่า
           เนื่องจากภาคใต้มีพื้นที่ชายแดนติดกับประเทศพม่า และมีแผนการพัฒนาเมืองตามโครงการสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ ทำให้ต้องใช้แรงงานในการก่อสร้างเพิ่มจำนวนมากขึ้น
           แนวทางแก้ไข
           ทุกองค์กร ควรร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหา และส่งเสริมให้คนในสังคมร่วมมือกัน
ปัญหาการทำเหมืองแร่
           ภาคใต้ จะมีการประกอบอาชีพการทำเหมืองแร่มากที่สุด และเป็นทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป ไม่สามารถหามาทดแทนได้ จึงเกิดปัญหาการแย่งชิงครอบครองแหล่งแร่ การซื้อขาย และขาดการอนุรักษ์ทรัพยากรแร่ เนื่องจากมีกฎหมายที่ไม่รัดกุม
           แนวทางแก้ไข
1.      ควรมีมาตรการ และการลงโทษอย่างเคร่งครัดหากไม่
2.      ปฏิบัติตามกฎหมาย และพระราชบัญญัติแร่
3.      ส่งเสริมให้มีการใช้แร่ที่ปริมาณมากแทนแร่ที่มีปริมาณน้อยแทน
ปัญหาชายแดน
           พื้นที่ของภาคใต้ มีชายแดนติดกับประเทศมาเลเซีย ปัญหาส่วนใหญ่เป็นปัญหาขบวนการโจรก่อการร้าย ปัญหาการลุกล้ำแนวเขตแดนของไทย ปัญหาการลักลอบขนสินค้าหนีภาษีและอาวุธ ปัญหาผู้ลี้ภัย ส่วนปัญหาการล่วงเกินน่านน้ำของชาวประมงภาคใต้เป็นกรณีพิพาท ที่สามารถเจรจาตกลงกันได้

           แนวทางแก้ไข
1.      สร้างเสริมความสัมพันธ์และความเข้าใจระหว่างสองประเทศ
2.      ควบคุมและป้องกันการลักลอบขนสินค้าและอาวุธอย่างเคร่งครัด
3.      ให้ความรู้ และเข้าใจแก่ชาวประมงเกี่ยวกับเขตแดนน่านน้ำของไทยให้ถูกต้อง

7. ปัญหาสิ่งแวดล้อม ใน เขตกรุงเทพฯ และ ปริมณฑล
ปัญหาความหนาแน่นของประชากร
           เนื่องจากกรุงเทพฯ และ ปริมณฑล เป็นศูนย์กลางของประเทศ และมีความสำคัญในด้านต่างๆ ประชากรจึงอพยพเข้ามาอยู่เพื่อประกอบอาชีพมากขึ้น จึงก่อให้เกิดปัญหาความหนาแน่นของประชากร
           แนวทางแก้ไข
1.      กระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคต่างๆ ให้ประชากรไม่ต้องอพยพเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ และเขตปริมณฑล
2.      หามาตรการจัดวางผังเมือง และจัดระเบียบให้เหมาะสมกับจำนวนประชากร
3.      ให้ความรู้เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมที่ดี เพื่อให้เกิดความเข้าใจและร่วมมือกันปฏิบัติ
ปัญหาการจราจรแออัด
           แนวทางแก้ไข
1.      ปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด และลงโทษผู้ฝ่าฝืน
2.      ปรับปรุงระบบขนส่งมวลชนให้มีประสิทธิภาพ
3.      ขยายและเชื่อมโยงถนนต่างๆ เข้าด้วยกัน
4.      รณรงค์ให้ผู้ใช้รถยนต์สวนตัวมาใช้บริการขนส่งมวลชน
ปัญหาน้ำท่วม และน้ำทะเลหนุน
           กรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นที่ลุ่มต่ำกว่าระดับน้ำทะเล จึงก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วมอยู่เสมอ และปัญหาน้ำทะเลทะลักเข้าพื้นที่ทำเกษตร ซึ่งได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก
           แนวทางแก้ไข
1.      สร้างเขื่อนกั้นคลองที่ต่อเนื่องกับทะเล เพื่อกั้นไม่ให้น้ำทะเลทะลักเข้า
2.      สร้างประตูระบายน้ำ และชุดลอกคลองน้ำที่ตื้นเขิน
3.      ปฏิบัติตามโครงการพระราชดำริ โครงการแก้มลิง เพื่อป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ
4.      ปัญหาการขยายตัวของเมืองและเขตอุตสาหกรรม
ปัญหาการขยายตัวของเมืองและเขตอุตสาหกรรม
           การขยายตัวของเมืองก่อให้เกิดปัญหามลพิษต่างๆ ทางสิ่งแวดล้อม ดังนี้
มลพิษทางอากาศ สาเหตุเนื่องจากมีรถยนต์และโรงงานอุตสาหกรรมมากขึ้น
มลพิษทางน้ำ     สาเหตุเนื่องจากการระบายของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมและแหล่งชุมชน
มลพิษทางเสียง   สาเหตุเนื่องจากมียานพาหนะทางบก และทางน้ำมีจำนวนมากขึ้น
การทิ้งขยะมูลฝอยลงในแม่น้ำลำคลอง ก่อให้เกิดน้ำเน่าเสีย และมีสารพิษเจือปน
           แนวทางแก้ไข
1.      วางแผนควบคุมการขยายตัวของเมือง และเขตอุตสาหกรรมให้เคร่งครัด และปฏิบัติตามแผนที่วางไว้
2.  เผยแพร่ความรู้และให้ความร่วมมือกันระหว่างประชาชน ภาคเอกชนและหน่วยงานต่างๆ ในการสร้างสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้น เช่น โครงการตาวิเศษ เป็นต้น



สิ่งแวดล้อมในสหัสวรรษหน้า :
 กระแสไทย กระแสโลก

           ในการวิเคราะห์แนวโน้มของโลกในศตวรรษที่ 20 ที่กำลังจะสิ้นสุดลง นิตยสาร The Economist ชื่อดังของอังกฤษ ได้ข้อสรุปว่า สิ่งแวดล้อมโลกที่ผ่านมา 100 ปี ไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิดกันเลย ตรงกันข้ามภาวะแวดล้อมของโลกอยู่ในสภาพที่ดีมาตลอดจนถึงปัจจุบัน และก็คงดำรงอยู่เช่นนี้ต่อไปในศตวรรษหน้า แม้ว่าประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา แต่ก็ไม่ได้สร้างปัญหามากมายนัก เพราะการผลิตทางเศรษฐกิจของโลกก็ขยายตัวมากเช่นเดียวกัน การที่สิ่งแวดล้อมโลกไม่พบกับความหายนะ (ตามที่หลายฝ่ายพยากรณ์ไว้เป็นเพราะว่าหลายสิ่งหลายอย่างได้เปลี่ยนไป : มีการเปลี่ยนแปลงด้านราคาของทรัพยากร มีการเปลี่ยนแปลงทางสังคม มีการพัฒนาประชาธิปไตย มีการวางนโยบายสิ่งแวดล้อมเพื่อตอบสนองแรงกดดันจากประชาชน)
         จะเห็นได้ว่าเมื่อมีผู้คนมากขึ้น บริโภคมากขึ้น ผลิตมากขึ้น ก็มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้น แต่เมื่อเกิดภาวะขาดแคลนราคาก็จะเริ่มสูงขึ้น ผลักดันให้มีการประหยัดในการใช้ กระตุ้นให้มีการแสวงหาทรัพยากรแหล่งใหม่ๆ ประเภทใหม่ๆ เทคโนโลยีใหม่ๆ เปิดหนทางใหม่ๆ ให้มนุษยชาติเสมอ กลไกราคามีประสิทธิภาพพอสมควรในการแก้ไขปัญหาทรัพยากรธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม เราต้องยอมรับว่า บางครั้งบางกรณี กลไกตลาดไม่อาจแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อย่างน่าพอใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีบางสิ่งบางอย่างในธรรมชาติที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ในกรณีนี้ก็มีแนวโน้มว่าจะมีการใช้ทรัพยากรอย่างล้างผลาญ ไม่มีใครสนใจที่จะอนุรักษ์ ตัวอย่างเช่น ทรัพยากรในทะเลและมหาสมุทร ซึ่งจะถูกคุมคามต่อไปในศตวรรษหน้า
           นอกจากนั้นในบางเรื่อง ความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมไม่ได้ปรากฏออกมาให้เราเห็นใน "ราคา" เช่น มีการปล่อยมลพิษออกมาสู่อากาศและน้ำ สร้างความเสียหายให้แก่ระบบนิเวศและชุมชนอย่างใหญ่หลวง แต่ราคาสินค้าไม่ได้สะท้อนให้เห็นความเสียหายเหล่านี้เลย ทั้งนี้เป็นเพราะภาคธุรกิจเอกชนต้องการลดต้นทุนให้ต่ำและต้องการแสวงหากำไรสูงสุดต่อไป โดยปล่อยให้ชุมชน สังคม และธรรมชาติต้องพบกับความหายนะจากมลพิษ ดังที่เรากำลังพบเห็นในประเทศที่กำลังพัฒนาทั่วโลก
          The Economist ชี้ว่า ในประเทศอุตสาหกรรมที่ก้าวหน้า มลพิษไม่ค่อยจะเป็นปัญหาใหญ่มากนัก เพราะที่นั่นมีระบอบประชาธิปไตยที่พัฒนาแล้ว มีการตรวจสอบ มีการกดดันจากประชาชนตลอดเวลา และรัฐบาลประชาธิปไตยก็ต้องตอบสนองความต้องการของประชาชน โดยมีความสำนึกว่าต้องทำบางสิ่งบางอย่าง และก็มีการทำสิ่งเหล่านั้นไปแล้ว
          ดังจะเห็นได้ว่ามลพิษทางอากาศในสังคมอุตสาหกรรมที่มีความรุนแรงมานานถึง 300 ปี ได้รับการแก้ไขอย่างน่าพอใจมีสิ่งเดียวที่ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ คือ รัฐบาลไม่สามารถควบคุมมลพิษจากรถยนต์ได้ และก็คงเป็นเช่นนี้ต่อไปอีกนาน ในประเทศที่กำลังพัฒนา ปัญหานี้ก็คงจะยืดเยื้อต่อไปอีกนานในศตวรรษหน้านี้
นิเวศวิกฤตในโลกที่กำลังพัฒนา
           ในการวิเคราะห์ของ The Economist อาจมีการมองปัญหาสิ่งแวดล้อมในแง่ดีเกินไป และมองเพียงด้านเดียว อย่างเช่น เรื่องมลพิษทางอุตสาหกรรม มีการสรุปว่าแต่ละปีการปล่อยมลพิษออกสู่อากาศ ประเภทต่างๆ มีปริมาณลดน้อยลงเป็นลำดับ แต่ไม่มีการมองว่า สารพิษหรือมลพิษที่ตกค้างและสะสมในสิ่งแวดล้อมเป็นระยะยาวในโลกอุตสาหกรรมได้เพิ่มขึ้นตลอดเวลา ซึ่งแนวโน้มนี้จะยังคงมีอยู่ต่อไป ในศตวรรษหน้า เพราะจนถึงบัดนี้ รัฐบาลในประเทศอุตสาหกรรม อย่างเช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเยอรมนียังไม่ประสบผลสำเร็จ ในการแก้ไขปัญหามลพิษที่สะสมในระยะยาวแต่อย่างใดเลย (จากข้อสรุปของนักนิเวศวิทยาการเมืองในเยอรมนี) 
           ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าแนวนโยบายสิ่งแวดล้อมกระแสหลักเน้นแต่การแก้ไขปัญหาที่มองเห็นได้รู้สึกได้ และมุ่งจุดหนักไปทางด้านมลพิษระยะสั้นที่มีผลอย่างฉับพลันต่อสุขภาพของประชาชน มลพิษที่ตกค้างสะสมระยะยาวเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยจะมองเห็นได้ง่าย จึงถูกละเลยไป นอกจากนั้นในการวิเคราะห์ปัญหาประชากรของโลก บางทีมีการมองข้ามข้อเท็จจริงที่สำคัญข้อหนึ่งไป นั่นคือ  แม้ว่าอัตราการขยายตัวจะมีไม่มากเหมือนแต่ก่อน แต่ในช่วงเปลี่ยนศตวรรษนี้ประชากรโลกจะเพิ่มปีละประมาณ 80 ล้านคน  (เท่ากับประชากรของเยอรมนีทั้งประเทศ) นั่นหมายความว่า ท่ามกลางความยากจนและความเสื่อมโทรมทางสิ่งแวดล้อม ในชนบท ปริมาณประชากรขนาดนี้จะยิ่งทำให้ภาวะวิกฤตทางสิ่งแวดล้อมมีความรุนแรงขึ้น ซึ่งจะกระเทือนไปถึงระบบการผลิตอาหาร และ วิถีการดำรงชีวิตของผู้คนในประเทศที่กำลังพัฒนา
           การเพิ่มประชากรอย่างมากๆ เช่นนี้ จะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเมืองและการครองชีพในเขตเมืองด้วย ในขณะนี้ทั่วโลกมีประชากร 2.6 พันล้านคนอาศัยอยู่ในเมืองต่างๆ ในจำนวนนี้ 1.7 พันล้านคน อยู่ในเมืองของประเทศที่กำลังพัฒนา จนถึงปี ค.ศ.2015 คาดว่าสัดส่วน จะเพิ่มอย่างรวดเร็วขึ้น 3 ใน 4 ของประชากรเมืองของโลกจะอยู่ในประเทศที่กำลังพัฒนาที่มีความแออัดสูง และมีปัญหารุนแรงทางด้านสุขอนามัย เมื่อเรานำ "สูตรสิ่งแวดล้อม" ที่ลือชื่อของนักนิเวศวิทยา Anne และ Paul Ehrlich มาเป็นพื้นฐานในการมองปัญหา เราจะได้ข้อสรุปว่า ในอนาคตวิกฤตการณ์ทางสิ่งแวดล้อมของโลกมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นอย่างแน่นอน สูตรนี้บ่งว่า
           วิกฤตสิ่งแวดล้อม (I) ถูกกำหนดโดยจำนวนประชากร (P), ความเจริญทางเศรษฐกิจ (A) และเทคโนโลยีการผลิต (T) คือ I = P x A x T 
           นอกจากจำนวนประชากรแล้ว ความเจริญทางเศรษฐกิจยังเป็นตัวแปรสำคัญ ยิ่งพัฒนามากก็ยิ่งผลิตมาก บริโภคมากและใช้ทรัพยากรธรรมชาติมาก สร้างความตึงเครียดให้แก่ระบบนิเวศ นอกจากนี้แล้วการผลิต 1 หน่วยอาจสร้างมลพิษในปริมาณที่มาก เพราะมีการใช้เทคโนโลยีที่ไม่ค่อยสะอาด เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ในยุคโลกาภิวัตน์ที่มีการใช้ปรัชญาตลาดเสรีอย่างแพร่หลายทั่วโลกในช่วงเปลี่ยนศตวรรษนี้ เป็นที่วิตกว่า การค้าการผลิตและการบริโภคจะเร่งให้มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างเผาผลาญ และมีการทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างหนักหน่วงมากขึ้น

ประชาธิปไตยและสิ่งแวดล้อม
  •  สำหรับอนาคตของโลกที่กำลังพัฒนา เราพอจะสรุปบทเรียนที่สำคัญๆ ได้ว่ามลพิษที่ร้างแรงที่สุดมักจะเกิดขึ้นในกลุ่มประเทศที่ยากจน ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาพื้นฐานบางอย่าง นั่นคือ ในประเทศเหล่านั้นไม่ค่อยจะมีการพัฒนาประชาธิปไตย ดังนั้นประชาชนจึงไม่มีสิทธิมีเสียง ไม่อาจเข้าถึงข้อมูล ข่าวสารเกี่ยวกับ สิ่งแวดล้อม ไม่อาจเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาล ไม่อาจคัดค้านต่อธุรกิจที่ก่อมลพิษ ความขาดแคลนประชาธิปไตย จึงเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ทางสิ่งแวดล้อม
  •  การมีมลพิษที่รุนแรงขึ้น ไม่ได้เกิดจากเพราะว่ามีการพัฒนาเศรษฐกิจมากเกินไป แต่เป็นเพราะว่าในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนา รัฐบาลและภาคธุรกิจเอกชนเน้นแต่เรื่องการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (เพื่อเพิ่มรายได้ประชาชาติและการส่งออก) แต่เมื่อการพัฒนา ดำเนินมาระยะหนึ่ง ผู้คนหลายวงการเริ่มมีการพัฒนาจิตสำนึก "สีเขียว" และมีการเรียกร้องให้คำนึงถึงหลักการ "การพัฒนาแบบยั่งยืน" มากขึ้น ในระยะนี้รัฐบาลจึงต้องตอบสนองในการริเริ่มวางนโยบายสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายว่าการพัฒนาเศรษฐกิจต้องเกิดขึ้น พร้อมกับการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม แต่ทั้งนี้ต้องมี "ประชาธิปไตยทางสิ่งแวดล้อม" เป็นพื้นฐานรองรับที่สำคัญ
  • เมื่อมองจากประสบการณ์ 100 ปี ของโลกตะวันตก เราอาจมองไปข้างหน้าได้ว่า ในศตวรรษที่ 21 ประเทศที่กำลังพัฒนา ก็คงจะแสวงหาหนทางแก้ไขวิกฤตการณ์ทางสิ่งแวดล้อมของตนเองได้ แต่ประเทศเหล่านั้นจะประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ อย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง :
    •  จะต้องมีข้อมูลข่าวสารที่ค่อนข้างสมบูรณ์เพื่อเปรียบเทียบต้นทุนของการควบคุมทางสิ่งแวดล้อมกับประโยชน์ที่สังคม  ได้จากการควบคุมนี้
    •  มีมาตรการที่มีประสิทธิภาพซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างมาตรการทางตลาดและราคากับมาตรการทางด้านการวาง มาตรฐานสิ่งแวดล้อม

           ในที่สุดแล้ว การแก้ไขวิกฤตการณ์ทางสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เป็นปัญหาเศรษฐกิจอย่างเดียว (เช่น การประกาศใช้ภาษีสิ่งแวดล้อม Green Tax) แต่ก็เป็นปัญหาทางการเมืองด้วย ถ้ามีการใช้มาตรการเข้มงวดเกินไป ก็อาจไม่เป็นที่ยอมรับทางด้านการเมือง ประชาชนอาจวิพากษ์วิจารณ์ วงการธุรกิจอาจต่อต้านและตอบโต้ (ด้วยการลดต้นทุนทางด้านการจ้างงาน หรือเพิ่มราคาสินค้าให้ประชาชนเดือดร้อน) ในระบบประชาธิปไตย นักการเมืองผู้วางนโยบายสิ่งแวดล้อมมักไม่ค่อยนิยมมาตรการที่เข้มงวด เพราะพวกเขาจะถูกโจมตีอย่างหนัก
           โดยที่ยังไม่มีใครมองเห็นว่ามาตรการและแนวนโยบายสิ่งแวดล้อมจะก่อให้เกิดผลมากน้อยแค่ไหน เป็นที่คาดกันว่าในศตวรรษที่ 21 กลุ่มพลังสีเขียวในประเทศที่กำลังพัฒนาจะมีจำนวนมากขึ้น และมีการเคลื่อนไหวในขอบเขตที่กว้างขวางขึ้น และเรียกร้องให้แก้ปัญหาแบบถอนรากถอนโคน ทั้งนี้เป็นเพราะว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมจะรุนแรงขึ้นโดยที่รัฐบาลค่อนข้างจะตอบสนองล่าช้า ทั้งนี้เป็นเพราะว่ารัฐบาล อาจจะมีแนวโน้มที่จะไม่ใช้มาตรการเข้มงวดมากนัก เพราะเป็นห่วงธุรกิจเอกชนและกลัวว่าเศรษฐกิจของชาติจะถูกกระทบกระเทือนเกินไป
นวัตกรรมทางสิ่งแวดล้อม
           ในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมที่ร่ำรวยคาดกันว่าไม่เป็นการยากนักที่จะแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในศตวรรษที่ 21 เพราะประเทศเหล่านี้ จะแข่งขันกันมากขึ้นทางด้านการปรับปรุงคุณภาพของสินค้า ซึ่งจะต้องมีการแสวงหานวัตกรรม (Innovation) กันอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "นวัตกรรมทางด้านสิ่งแวดล้อม" (Environmental Innovation) จะเป็นเครื่องมือ ที่สำคัญมากในการกระตุ้น ให้การพัฒนาเศรษฐกิจของโลกอุตสาหกรรมก้าวหน้าไป ในขณะนี้ประเทศร่ำรวยก็มีศักยภาพค่อนข้างสูงอยู่แล้วทางด้านการพัฒนาเทคนิคใหม่ๆ ในกระบวนการผลิตที่คำนึงถึงคุณภาพของสิ่งแวดล้อม
           นักวิเคราะห์ทางด้านนวัตกรรมมองว่าความสามารถของอุตสาหกรรมในการตอบสนองต่อการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเครื่องชี้ที่สำคัญว่าอุตสาหกรรมนั้นๆ จะมีความสามารถในการแข่งขันระดับโลกได้หรือไม่ ถ้าใครต้องการประสบความสำเร็จ เขาจะต้องนำเอาแนวคิดหลักที่สำคัญ มาผสมผสานกันในระบบการผลิต นั่นคือต้องมีการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม แก้ไขปัญหามลพิษ เพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและพลังงาน โดยเอาหลักการ "นวัตกรรม" มาเชื่อมโยงกับ "การแข่งขัน" การวางมาตรฐานเข้มงวดทางสิ่งแวดล้อม ยิ่งจะช่วยให้มีการค้นคิดวิธีการผลิตที่เป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ในปัจจุบันทางฝ่ายรัฐบาลของโลกอุตสาหกรรม อย่างเช่น สวีเดน ก็เห็นด้วยกับ "แนวทางนวัตกรรมทางสิ่งแวดล้อม" ในรายงานภาวะสิ่งแวดล้อมของประเทศฉบับล่าสุด มีการสรุปว่า"นโยบายสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลสวีเดน มีความสำคัญมากในการเสริมสร้างให้เกิดความทันสมัยขึ้นแก่ภาคธุรกิจอุตสาหกรรม
             การปรับปรุงสิ่งแวดล้อมได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นให้มีการแข่งขันกันใน ภาค อุตสาหกรรมนี้" ทั้งหมดนี้เป็นแนวคิดใหม่ของโลกตะวันตกที่เน้นเรื่อง "การทำให้เกิดความทันสมัยทางด้านนิเวศ" (Ecological Modernization) ซึ่งเน้นการค้นคิดเทคโนโลยีทางสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ และนำมาใช้ในทุกขั้นตอนของกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรม แต่การจะทำเช่นนี้ได้จะต้องมีการปรับโครงสร้างการผลิตใหม่หมด ซึ่งจะต้องมี "การวางแผนทางสิ่งแวดล้อม" ระดับชาติอย่างเป็นระบบ รวมไปถึงการปรับเปลี่ยนโลกทัศน์และจิตสำนึกทางสิ่งแวดล้อมของผู้คนในทุกวงการ แนวคิด "นวัตกรรมทางสิ่งแวดล้อม" ไม่ได้เน้นเรื่องเทคโนโลยีอย่างเดียว หากแต่ให้ความสำคัญสูงสุดแก้ "การจัดการทางสิ่งแวดล้อม" (Environmental Management) ด้วย ซึ่งจะต้องทำกันทั้งในภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชน ดังจะเห็นได้จากความสำเร็จในกลุ่มประเทศสวีเดน เดนมาร์ก ฮอลแลนด์ และเยอรมนี ซึ่งถือได้ว่ากำลังเป็นผู้นำในด้าน "นวัตกรรมทางสิ่งแวดล้อม"
เอกสารอ้างอิง
1. The Economist, A Special Report : Reflections on the 20th Century Liberty, Equality, Humility,(September 11-17th 1999)
2. B.BRUEL, Agenda 21-Vision : Nachhaltige Entwicklung (ภาษาเยอรมัน เพื่อต้อนรับงานมหกรรมโลก EXPO 2000 ที่เมืองฮันโนเฟอร์, เป็นการวิเคราะห์แนวโน้มสิ่งแวดล้อมโลกในศตวรรษที่ 21, รวมบทความของผู้เชี่ยวชาญเยอรมันเกี่ยวกับ"การพัฒนาที่ยั่งยืนในอนาคต" พิมพ์โดย CAMPUS, Frankfurt 1999)
3. U.BECK, Schone Neue Arbeitswelt (ภาษาเยอรมันเพื่อต้อนรับงาน EXPO 2000 เช่นกัน เป็นการวิเคราะห์แนวโน้มของโลกการทำงานในศตวรรษที่ 21 ซึ่งจะเกี่ยวพันกับปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างแยกจากกันไม่ได้ พิมพ์โดย CAMPUS, Frankfurt 1999)
ค้นคว้ามาจาก บทความของ มูลนิธิสวัสดี เนื่องจากเป็นบทความที่ดีและตรงกับที่กำลังศึกษาอยู่ เป็นบทความที่มีประโยชน์มากครับ และต้องขอขอบพระคุณ บทความนี้จากมูลนิธิสวัสดี อีกครั้งครับ